วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:56 น.

ภูมิภาค

ปศุสัตว์ร้อยเอ็ด เตือนเกษตรกรรู้ทันโรคแอนแทรกซ์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน พบโรคพิษสุนัขบ้า 3 อำเภอ 4 จุด

วันเสาร์ ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 17.29 น.

นายอำนาจ มะธิปิไข ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ดมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค กระบือแพะ แกะ และสุกร ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดสัตว์ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้เฝ้าระวังและเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรอยู่ทั้งหมดจำนวน 3 โรคด้วยกันได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรครลำปีสกิน และโรคแอนแทรกซ์ 

ในขณะนี้สถานการณ์โรคลำปีสกินในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ไม่มีรายงานการเกิดโรค การแพร่ระบาดหรือการติดเชื้อแต่อย่างใดทั้ง 20 อำเภอ ซึ่งได้มีการเฝ้าระวังโรคและมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่อง และในปี 2568 ได้มีการฉีดวัคซีนครบทุกหมู่บ้านทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในส่วนของโรคพิษสุนัขบ้า ได้มีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั้ง 202 แห่ง ให้มีการเร่งรัดจัดซื้อเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงครอบคลุมทุกพื้นที่เช่นกัน ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดพบหัวสุนัขติดเชื้อจำนวน 3 อำเภอ 4 จุด โดยมีการควบคุมโรคในรัศมีพื้นที่ใดมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 ครั้ง พื้นที่ที่พบโรคจำนวน 3 อำเภอได้แก่อำเภอเกษตรวิสัย จำนวน 2 ตำบลได้แก่ตำบลน้ำอ้อมและตำบลทุ่งทอง อำเภอปทุมรัตต์จำนวน 1 จุดคือตำบลสระบัว และที่อำเภอทุ่งเขาหลวง ตำบลทุ่งเขาหลวง 

โดยได้ระดมฉีดวัคซีนรอบรัศมีการเกิดโรคเรียบร้อยแล้ว สำหรับสาเหตุการเกิดโรคเนื่องจากมีสุนัขจรจัด ที่ไม่สามารถบังคับหรือจับสัตว์มาฉีดวัคซีนได้นับว่าเป็นปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ และล่าสุดที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนก็คือโรคแอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์สู่คน 

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ดยังไม่มีรายงานการพบสัตว์ป่วยอาการคล้ายโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งได้เฝ้าระวังแจ้งเตือนให้ทุกอำเภอถ้ามีสัตว์ป่วยตายกระทันหันห้ามชำแหละ ห้ามเคลื่อนย้าย ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหรือผู้นำหมู่บ้าน ถ้าพบสัตว์ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุห้ามนำไปบริโภคโดยเด็ดขาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทันที 
นายอำนาจ มะธิปิไข ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวอีกว่า โรคแอนแทรคซ์เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนโดยการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัมผัสซากสัตว์ป่วยหรือเชื้อเข้าทางแผลหรือรอยถลอก การกินซากสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคแบบไม่ปรุงสุก และติดต่อทางการหายใจ เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

สำหรับอาการในคนเริ่มจากการเป็นตุ่มแดงแล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มใสตุ่มจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนแตกขอบแผลจะนูน ตรงกลางมีสีดำ ระบบทางเดินอาหารปวดท้อง อาเจียน เกิดแผลหลุม เลือดออกในทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องอืด ถ่ายเหลวปนเลือด และเสียชีวิตได้ อาจตายเฉียบพลันใน 1 ถึง 2 วัน ฝากย้ำเตือนพี่น้องเกษตรกรหากพบสัตว์ป่วย สัตว์ตาย ห้ามแตะ ห้ามผ่า ห้ามกิน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านทันที

หน้าแรก » ภูมิภาค