วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:46 น.

ภูมิภาค

ชาวบ้านร้องถูกนายทุนหลอกขอโอนเงินผ่านบัญชีแลกค่าตอบแทนสูง สุดท้ายเจอหมายเรียกร่วมกันฉ้อโกง

วันพฤหัสบดี ที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 19.47 น.

วันที่ 8 พฤาภาคม 2568 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งประมาณ 30 คนส่วนมากเป็นผู้หญิง เดินทางมาจาก ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กรณีถูกคนกลุ่มหนึ่งหลอกลวง ขออนุญาตให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินประมาณ 8,000-33,000 บาท ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงยินยอมให้คนกลุ่มนั้นโอนเงินเข้าบัญชี แต่ละบัญชีจำนวนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 105,000 บาท ถึง 150,000 บาท สุดท้ายถูกแจ้งความไว้ที่ สน.ท่าข้าม กทม. กล่าวหาว่าร่วมกันฉ้อโกง โดยพนักงานสอบสวน มีหมายเรียกให้ไปพยานในข้อหาดังกล่าว ชาวบ้านจึงพาไปกันปรึกษานายกตตน์ ชยเทศ ประธานกลุ่มต่อต้านนายทุนและการฟอกเงิน สำนักงานตั้งอยู่ ต.คำเตย อ.เมืองนครพนม เป็นผู้นำยื่นเอกสารร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี 

 

โดยนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผวจ.นครพนม ได้ออกมารับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมยืนยันว่าหากกรณีดังกล่าว ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อตามที่ร้องเรียน จะไม่ยอมให้ผู้กระทำผิดลอยนวลอย่างแน่นอน  และให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสอบสวนหาข้อเท็จจริง

 

นายกตตน์ ชยเทศ ประธานกลุ่มต่อต้านนายทุนและการฟอกเงิน เปิดเผยว่ามีชาวบ้านที่โดนหลอกขอโอนเงินผ่านบัญชีมีจำนวน 76 ราย ส่วนใหญ่อยู่ ต.กุรุคุ ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม และ อ.ปลาปาก จ.นครพนม โดยมีนายหน้าอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด พอมีเงินเข้าบัญชีนายหน้าก็จะพาไปถอนออกมาในวันเดียวกันเลย ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 8 พันบาทถึง 3 หมื่นกว่าบาท พนักงานสอบสวน สน.ท่าข้าม ก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร บอกให้ชาวบ้านไปหาเงินมาใช้หนี้ เท่ากับว่ากลายเป็นคนทวงหนี้ให้นายทุนเสียเอง ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการฟอกเงิน ทำกันเป็นขบวนการ เท่าที่ทราบลุกลามไป จ.สกลนคร แล้ว

 

สอบถามชาวบ้าน ต.กุรุคุ ที่ถูกหลอก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่า เหตุการณ์เกิดเมื่อปลายปี 2567 มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ”ติ๊ก” เป็นคนมาจาก จ.ศรีสะเกษ รู้จักกับคนในหมู่บ้านชื่อนางสาวต่าย อ้างมีนายทุนจาก กทม. อยากมาช่วยเหลือชาวบ้านที่มีหนี้ ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงิน แค่มีเงินผ่านเข้ามาในบัญชี เจ้าของบัญชีก็ไปถอนเงินออกมา เท่านี้ก็ได้ค่าตอบแทนแล้ว 

 

น.ส.ต่ายยังไม่มั่นใจ จึงลองทดสอบว่าตนเองอยากได้เงินมาปิดหนี้นอกระบบ ต้องการเงิน 5 หมื่นบาท น.ส.ติ๊กจะให้ น.ส.ต่ายเขียนรายละเอียดในการขอใช้เงินในกระดาษ A4 ปรากฏว่าใช้เวลาไม่ถึงวัน มีเงินเข้าบัญชี น.ส.ต่ายจริง ทำให้เชื่อว่าไม่ใช่การหลอกลวงชวนเชื่อ น.ส.ต่ายจึงไปชักชวน น.ส.บู เพื่อนอีกคนที่อยู่บ้านค่ายพระยอดเมืองขวาง ร่วมกันเป็นนายหน้าหาคนยินยอมให้ผ่านบัญชีธนาคาร โดยได้รับค่าแนะนำคนละ 2,000 บาท ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการถอนเงินในบัญชี ชาวบ้านทุกคนบอกว่าจะมี น.ส.ติ๊ก กับ น.ส.ต่าย เป็นคนเขียนใบเบิกทุกครั้ง พอได้เงินแล้วก็จะมอบให้คนทั้งสองไป โดยได้รับค่าตอบแทนตามที่กล่าวข้างต้น ปรากฏว่ามีชาวบ้านหลงเชื่อรวมแล้ว 76 คน ที่มอบเลขบัญชีธนาคารให้มีการโอนเงินเข้า 

 

กระทั่งเดือนมกราคม 2568 มีคนชื่อ น.ส.นิรชา (สงวนนามสกุล) โทรศัพท์มาหาชาวบ้านเจ้าของบัญชีว่า เอาเงินที่กู้ไปทำอะไร ทำไมไม่ยอมจ่ายหนี้ สร้างความตกใจแก่ชาวบ้านเหล่านั้นมาก จึงมีการโต้เถียงกันทางโทรศัพท์ ผ่านมาไม่กี่วันคนชื่อ น.ส.นิรชาก็เดินทางมาที่ ต.กุรุคุ พร้อมกับ น.ส.ติ๊กเรียกนายหน้าทั้งสองคนคือ น.ส.ต่าย กับ น.ส.บูมาพูดคุย สั่งให้เร่งรัดชาวบ้านนำเงินทั้งหมดมาคืน ไม่เช่นนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีทุกคน 

 

ต่อมาเดือนมีนาคม 68 ก็มีหมายเรียกจาก สน.ท่าข้าม ให้ชาวบ้านผู้ได้รับหมายไปให้ปากคำที่โรงพัก ซึ่งมีไปพบแล้วประมาณ 10 คน ที่เหลือบางคนยังไม่ได้รับหมาย หรือบางคนก็ไม่กล้าไป จึงรวมตัวกันมาร้องเรียนผู้ว่าฯนครพนม

 

ซึ่งกรณีดังกล่าวนายกตตน์ ชยเทศ เชื่อว่าเป็นกลุ่มสีเทาที่ต้องการฟอกเงิน โดยโอนผ่านบัญชีชาวบ้าน ยืนยันไม่ใช่บัญชีม้าเหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์  นายทุนรายนี้ได้ถึงสองเด้งคือแจ้งความชาวบ้านกู้ยืมเงิน คนไหนกลัวติดคุกก็ต้องดิ้นรนหาเงินไปให้ ส่วนเงินที่โอนก็ฟอกจากดำเป็นขาว ตัวละครสำคัญคือ น.ส.ติ๊กที่เข้ามาชักชวนคนในหมู่บ้าน และในขณะเดียวกันนายหน้าก็เกิดความโลภ โอนเงินคืนนายทุนไม่ครบจำนวนที่ตกลงกันไว้ กลายเป็นงูกินหาง แม้ตอนเกิดเรื่องนายหน้าทั้งสองคนก็ไม่มาร่วมร้องเรียน ส่วน น.ส.ติ๊กที่เป็นนางนกต่อก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลย 


 

หน้าแรก » ภูมิภาค