วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:52 น.

ภูมิภาค

อำนาจเจริญ รณรงค์ไถกลบตอซังข้าว-หว่านปุ๋ยพืชสด บำรุงดิน

วันศุกร์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 11.24 น.

นายเสนีย์ ส้มเขียวหวาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในงาน รณรงค์ไถกลบตอซังข้าว และ หว่านปุ๋ยพืชสด พร้อมนำกล่าวปฏิญาณตน หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ร่วมหว่านถั่วพร้า และไถกลบพร้อมทั้งเยี่ยมขมฐานเรียนรู้ ณ แปลงสาธิตบ้านสามัคคี หมู่ที่ 2 ตำบลนาป่าแซง อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายอธิพงศ์ พงษ์สุวรรณ นายอำเภอปทุมราชวงศา นายไพศาล แก้วบุตรดี เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

จังหวัดอำนาจเจริญ ได้มอบหมายให้ สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยการจัดงานรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวและหว่านปุ๋ยพืชสด เพื่อให้เกษตรกรเกิดการตระหนักความสำคัญและประโยชน์ที่ได้รับจากการไถกลบตอซังข้าวและหว่านปุ๋ยพืชสดและการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่การเกษตร รวมทั้ง สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาในชุมชนและมีจุดนำร่องสาธิตเทคโนโลยี่การเกษตรทดแทนการเผา  หลักการปฏิบัติและความรู้เกี่ยวกับการไถกลบตอซังข้าวลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เพราะการเผาเป็นสาเหตุทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจอีกด้วย การสร้างการตระหนักรู้ในการไถกลบตอซังข้าว และหว่านปุ๋ยพืชสด จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตปรับปรุงบำรุงดิน ให้เหมาะสมแก่การปลูกพืช เพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน ในพื้นที่ตามมาตรการ 3 ต้อง คือ 1.ต้องร่วมมือกันไถกลบตอซังข้าว และหว่านปุ๋ยพืชสด (ถั่วพร้า) 2.ต้อง นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำฟางข้าวมาทำวัสดุคลุมดิน เพาะเห็ดฟาง ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น 3.ต้องไม่เผาตอซังข่าวและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเด็ดขาด

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การปฏิญาณตนหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร การสาธิตไถกลบตอซังข้าวและหว่านปุ๋ยพืชสด กิจกรรมฐานเรียนรู้ 4 ฐาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี่เกษตรทางเลือก เช่น การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว การเพาะเห็ดฟาง และ การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 

หน้าแรก » ภูมิภาค