วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:00 น.

ภูมิภาค

ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวในโลก! บวชนาคบนหลังช้าง ขบวนแห่นางรำสวยงาม

วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 11.53 น.

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดงานประเพณีบวชนาคช้าง ประจำปี 2568 ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้บวชนาคช้างปีนี้จำนวน 51 คน และขบวนช้างงาแต่งตัวสวยงามร่วมแห่กว่า 80 เชือก เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 10 ด้วย โดยเมื่อวาน (9 พ.ค. 2568) ได้มีพิธีการปลงผมนาคและบายสีสู่ขวัญนาค วันนี้เป็นวันที่ทำพิธีบวชและแห่

โดยในช่วงเช้าได้มีการนำนาคทั้งหมดร่วมประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลประกำภายในศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ เพื่อเป็นการบอกกล่าวเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่ช่วงบ่ายวลา 14.00 น.ได้เคลื่อนขบวนแห่นาคทั้ง 51 คนนั่งบนหลังช้างที่วาดลวดลายสวยงามบนตัว ออกจากวัดแจ้งสว่าง หมู่บ้านตากลาง มายังวังทะลุ หรือ ดอนบวช บริเวณที่ลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร โดยช้างทุกเชือกเมื่อมาถึงดอนบวชจะต้องนำนาคลงน้ำและเล่นน้ำบริเวณดอนบวช ก่อนที่จะขึ้นมาเพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาตามประเพณี โดยมีนายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีบวชนาคช้าง พร้อมนำ นาค และช้าง ร่วมพิธีไหว้บอกกล่าวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลปู่ตา ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวตำบลกระโพหลายชั่วอายุคน

สำหรับประเพณีบวชนาคช้าง  เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวสุรินทร์ทั้งเขมร ลาว กวยที่นับถือพุทธศาสนา ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา เมื่อลูกชายอายุ ครบ 20  ปีบริบูรณ์ ก่อนที่จะมีเหย้ามีเรือน พ่อแม่ต้องจัดการบวชให้ลูกชายเพื่อศึกษาธรรมวินัยเสียก่อน ประเพณีบวชนาคช้างสมัยก่อน นับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เพราะชายหนุ่มในละแวกเดียวกันจะนัดวันบวชพร้อมกัน โดยเชื่อว่าการบวชนี้ ถ้าจะให้ได้บุญมาก จะต้องนั่งช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะทางไกล ๆ และมีผู้คนร่วมขบวนแห่นาคเป็นจำนวนมาก ในอดีตชาวกวยบ้านตากลาง และหมู่บ้านใกล้เคียง จะพร้อมใจกันแห่นาคด้วยช้าง โดยนาคจะมีการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ สวมชฎา สวมเสื้อแขนยาวสีขาวนุ่งโสร่งไหม พร้อมแต่งด้วยผ้า 7 สีอย่างสวยงาม นั่งบนหลังช้างไปที่วังทะลุ บริเวณลำน้ำชีมาบรรจบกันกับแม่น้ำมูล เพื่อทำพิธีเช่นไหว้ศาลปู่ตา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทบริเวณ ดอนบวช ซึ่งเป็นเนินดินกลางแม่น้ำที่เกิดจากลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ทำให้เกิดเนินดินกลางแม่น้ำ      ชาวบ้าน เรียกกันว่า สิมน้ำ หรือเรียกว่า ดอนบวช จนกระทั่งปัจจุบัน จากนั้นนาคทั้งหมดจะเข้าพิธีอุสมบท ยังอุโบสถวัดแจ้งสว่างในวันต่อไป ซึ่งงานประเพณีบวชนาคช้าง จ.สุรินทร์ จะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง และถูกบันทึกไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ประเพณีบวชนาคช้างสุรินทร์ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้
 

หน้าแรก » ภูมิภาค