วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:23 น.

ภูมิภาค

เปิดตำนาน "เมืองงิ้ว" แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่ จ.อำนาจเจริญ

วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 13.17 น.

แหล่งโบราณคดี เสมาพันปี ตั้งอยู่ภายในดอนปู่ตา บ้านชาด ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ อยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญ ทางทิศใต้ ไปตามถนนชยางกูร(อำนาจเจริญ – อุบลราชธานี) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนสายรองอีก 5 กิโลเมตร เลยบ้านชาดไป จะพบเห็นป้ายเสมาพันปี บึงโนนงิ้ว ตั้งอยู่ซ้ายมือ ลัดเลาะเข้าไปถนนรองอีก 200 เมตร จะพบเห็นกลุ่มเสมาหิน ผุดขึ้นจากพื้นดิน บางส่วนวางเรียงรายอยู่พื้นดิน โดยมีเพิงมุงหลังคาสังกะสีครอบกันแดดกันฝน เข้าใจว่า ขุดขึ้นมาไม่ได้ จำนวนหนึ่ง และตั้งเรียงรายอยู่บริเวณป่าอีกจำนวนมาก ถัดไปพบลักษณะคล้ายตู้กระจก มีกระดูกคนวางอยู่จำนวนหนึ่ง เข้าใจว่า เป็นกระดูกคนโบราณ ซึ่งขุดได้จากดอนเจ้าปู่  ซึ่งจะมีคลองน้ำ กว้าประมาณ 10 เมตร รอบดอนเจ้าปู่ ว่ากันว่า ชาวเมืองงิ้วทำคูคลองขึ้นมา เพื่อป้องกันศัตรูข้าศึกเข้ามารุกราน

ก่อนนั้นดอนปู่ตา เดิมชื่อว่า เมืองงิ้ว มีเจ้าเมืองปกครอง ขึ้นกับ กรุงศรีอยุธยา  ต่อมา ชาวลาวยกทัพมารุกราน เกิดสงคราม เมืองงิ้วถูกตีแตก เหลือเพียงซากปรักหักพัง  ต่อมา เกิดโรคระบาด ผู้คนล้มป่วยเป็นจำนวนมาก กลายเป็นเมืองร้าง  ซึ่งประชาชนเมืองงิ้ว หนีกระจัดกระจาย ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ชื่อว่า บ้านชาด บ้านสามัคคี และบ้านดู่ ในปัจจุบัน ไม่นาน มีพระธุดงค์ เดินผ่านมาพักค้างคืนที่เมืองงิ้ว(ดอนปู่ตา) แต่ว่า อยู่ไม่ได้ พบสิ่งลี้ลับอาถรรพ์ต่างๆรบกวน พระธุดงค์จึงได้เตลิดหนีไป ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เป็นดวงวิญญาณของเหล่านักรบหรือบรรพบุรุษเมืองงิ้วปกป้องรักษาอยู่ จากนั้น ได้มีการก่อสร้างผาม(ศาล)ขึ้นมา เพื่อให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ สิงห์สถิต เรียกว่า ปู่ตา เพื่อรักษาป่า จนทุกวันนี้

เมื่อถึงฤดูทำนา ชาวบ้านจะมาทำพิธีแฮกนา หรือทำนาที่นี่เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนลงมือทำนา เพื่อให้ฝนดี ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ และหลังสงกรานต์ จะมีการทำบุญเลี้ยงอาหารปู่ตา พร้อมจัดงานประเพณีสงกรานต์เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

สำหรับเสมาหินที่ดอนปู่ตา เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในหมู่บ้านเคารพนับถือกันมาก ภายในเนื้อที่ 69 ไร่ จะพบเห็นกลุ่มเสมาหินแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเสมาหินสลักลวดลายบัวคว่ำบัวหงาย จำนวน 15 ใบ 2. กลุ่มเสมาหินที่สลักเป็นรูปอาวุธโบราณ จำนวน 10 ใบ 3.กลุ่มเสมาหินสลักเป็นรูปไข่ปลา  จำนวน 20 ใบ และ4.กลุ่มเสมาหินที่มีลวดลายสลัก 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งเป็นรูปกงจักรและอีกด้านเป็นรูปสัญลักษณ์ของกษัตริย์ จำนวน 5 ใบ และเมื่อปี 2526 ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมเขต 7. จ.อุบลราชธานี ได้เข้ามาสำรวจตรวจสอบและยืนยันว่า เป็นเสมาหินสมัยทวาราวดี ในศตวรรษที่ 12 มีอายุ 1,200 ปี และที่ฝังดินอยู่ยังมีอีกจำนวนมาก จากนั้น ได้นำใบเสมาหินไปไว้ที่ จ.อุบลราชธานี จำนวน 1 ใบ เพื่อศึกษาเพิ่มเติม

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2538 ชาวบ้านได้ทำการขุดลอกลำห้วย รอบดอนปู่ตา ซึ่งสมัยก่อนชาวเมืองงิ้ว ทำเป็นคูคลองป้องกันศัตรูรุกลาน ซึ่งขุดพบไหโบราณ ภายในบรรจุกระดูกอยู่จำนวนมาก เข้าใจว่า เป็นกระดูกบุคคลสำคัญของชาวเมืองงิ้ว จึงได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมาไว้ที่ ตู้กระจกและที่วัดป่าบึงศิลาราม บางส่วน(อยู่ติดกับดอนปู่ตา) นอกจากนี้ยังขุดพบหีบใส่เสื้อผ้าโบราณ 1 ใบ คาดว่า มีอายุกว่า 100 ปี

ว่ากันว่า  แหล่งเสมาหิน ที่ดอนปู่ตา บ้านชาด ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะพาน มีมานานแล้ว ซึ่งคนสมัยโบราณจะทำใบเสมาขึ้นมาเพื่อกำหนดขอบเขตของที่ทำการของเจ้าเมือง เข้าใจว่า อาจเป็นบ้านพักหรือสถานที่ทำงานอยู่บริเวณเดียวกัน เมื่อเมืองงิ้วถูกชาวลาวตีแตก ชาวลาวได้เก็บข้าวของสิ่งของมีค่าไปด้วย พร้อมจุดไฟเผาเมือง หลังสงครามสงบ เกิดโรคระบาด ชาวเมืองงิ้วจึงอพยพย้ายมาตั้งบ้านเมืองห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร คือบ้านชาดในปัจจุบัน คำว่า ชาด เป็นคำพื้นเมือง เข้าใจว่า คือ ชาติงิ้ว นั่นเอง...

หน้าแรก » ภูมิภาค