วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:57 น.

ภูมิภาค

รุ่นสู่รุ่น! พิธีกรรมบวชควายจ่า (ควายหลวง) ในงานประเพณีบุญบั้งไฟ สืบทอดกันมากว่า 112 ปี

วันเสาร์ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.45 น.

วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 นายสรรเพชญ พันธุ์ภักดี ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงขวัญ นำชาวบ้านทำพิธีกรรมบวชควายจ่า(ควายหลวง) ในงานประเพณีบุญบั้งไฟที่บรรพบุรุษได้สืบทอดกันมากว่า 112 ปี ของชาวอำเภอเชียงขวัญ ที่ ดอนปู่ตา บ้านแมด อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่สากลโลกได้เห็นและตระหนักคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอเชียงขวัญ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมถึงเท่าทุกวันนี้

ภายในงาน ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 2)พร้อมด้วยทีมงานเดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการจัดงาน และร่วมสืบสานงานบุญบั้งไฟอีสานที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน

แต่ที่บ้านแมด อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด จะมีการจัดพิธีกรรมที่แตกต่างแปลกตาน่าตื่นใจมากกว่าที่อื่นและหลายๆแห่งคือเมื่อถึงวัน โฮมหรือวันแห่ทางหมู่บ้านจะมีการจัดให้มีพิธีกรรมบวชควายที่เรียกคนที่บวชเป็นควายว่าควายจ่า หรือควายฮาด ซึ่งจะทำพิธีบวชในตอนเช้า โดยคนที่จะบวชเป็นควายจะทาใบหน้าและร่างกายเปลือยตอนบนทาด้วยดินหม้อจนดำไปทั้งตัวรอบขอบตาทาด้วยสีแดงเห็นชัดเจนส่วนหัวมีเขาที่ทำขึ้นเองโดยสมมุติเป็นเขาควายสะพายเฉวียงไหล่ด้วย"พรวนทาม"ที่เป็นเครื่องสัญญาณเสียงคล้ายขอควายที่เอวของคนที่บวชเป็นควายมีท่อน"อวัยวะเพศชาย"ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนขนาดยาวใหญ่ทาสีแดงที่ปลายผูกติดเอวอยู่ด้วยเชือกและมีสายเชือกผูกโยงไปข้างหลังมีใช้อีกคนหนึ่งที่สมมุติเป็นเจ้าของควายจับปลายเชือกบังคับควายเดินออกหน้าขบวนแห่ที่มีกลุ่มคนต่างกายแปลกๆร่วมกันฟ้อนเซิ้งอย่างสนุกสนานประกอบดนตรีพื้นบ้านบรรเลงไปทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านแมด ตำบลเชียงขวัญ อำเภอเชียงขวัญ ได้อนุรักษ์ประเพณีพิธีกรรมบวชควายจ่า(ควายหลวง)สืบสานอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นซึ่งได้สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษเป็นเวลากว่า 112 ปี

การบวชควายในวันแห่บั้งไฟนี้ต้องไปบวชกับ “ผีปู่ตา” ที่ดอนปู่ตา ซึ่งชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นผีประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านอีสานเชื่อกันว่าจะคอยปกป้องคุ้มครองคน-สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน และช่วยเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนในปีนั้นๆ และคนที่บวชเป็นควายจ่าหรือควายฮาดในงานบุญบั้งไฟนี้ จะมีการสืบทอดกันต่อๆ มาตามสายเลือด หรือไม่ก็จะเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเครือญาติเดียวกัน

หน้าแรก » ภูมิภาค