วันพุธ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 17:31 น.

ภูมิภาค

7 เดือน 7 กระหึ่มโลก "บวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช" คนดังร่วมรำถวายแน่น นักร้องเสียงนุ่มขอพรพลิกชีวิต

วันอังคาร ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 10.05 น.

วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 18.00 น. ที่บริเวณริมแม่น้ำโขง ลานพญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผวจ.นครพนม พร้อมด้วย นายวัฒนศักดิ์ เจียวิริยบุญญา รองนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม นางสาวเสาวนีย์ คนกล้า ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครพนม นางสาวนงนุช สีทาน้อย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม พ.ต.อ.อนุสรณ์  มั่งมี รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และ นางปรัชดา ตั้งอุปละ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม ร่วมแถลงข่าวการจัดงานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช  ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2568 รวม 7 วัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

ในโอกาสเดียวกันนี้ นักร้องหนุ่มเสียงนุ่ม ก๊อต-จิรพัฒน์ ศิลปินจากค่ายเพลงบ้านข้าวสารแลนด์ ได้มาถวายเสียงแก่องค์พญานาค พร้อมเล่าว่าช่วงที่มีซิงเกิ้ลเพลงคาถาพลิกชีวิต หลวงปู่ศิลา สิริจันโท ได้มาอธิษฐานขอบารมีกับองค์พญาศรีสัตตนาคราช ให้ผลงานเพลงนี้โด่งดังเป็นที่รู้จัก ปรากฏว่ากระแสดีวันดีคืนพลิกชีวิตของตนเองจริงๆ ครั้งนี้จึงนำงานเพลงใหม่ชื่อนาคาพลิกชีวิตมาร้องถวายแก่องค์พญาศรีสัตตนาคราช และหวังว่าจะปังเหมือนครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ก่อนจะถึงเวลาแถลงข่าว ได้มีเมฆดำทมึนแผ่ปกคลุมเต็มท้องฟ้า เหลียวมองไปฝั่งประเทศลาว เห็นฝนตกลงมาเป็นสาย ผวจ.นครพนมได้ยกมือไหว้ขอให้องค์พญานาค หยุดเมฆไว้สักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งการแถลงข่าวได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยไม่มีฝนตกสักเม็ดเดียว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งจึงเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ปรากฏว่าไม่ถึง 3 นาทีฝนก็ตกลงมาทันที จึงเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก

นายวัฒนศักดิ์ เจียวิริยบุญญา รองนายกเทศมนตรีฯ ได้กล่าวถึงความเป็นมาขององค์พญาศรีสัตตนาคราช ว่า เริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 สมัยนายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย เป็น ผวจ.นครพนมคนที่ 38 ท่านมีแนวความคิดที่จะสร้างประติมากรรม ที่ต้องเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น จึงมีความเห็นควรเป็นพญานาค เพราะพญานาคมีลักษณะที่งดงาม และอยู่ในแม่น้ำโขง โดยจะทำเป็นจุดขายเมืองนครพนม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวมาไหว้พระธาตุพนมที่ อ.ธาตุพนมเสร็จแล้ว ก็สามารถมาเที่ยวต่อพักค้างคืนที่ตัวเมืองนครพนม โดยได้ศึกษาตำนานพญานาคจากวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร รวมทั้งวัดมรุกขนคร และ วัดธาตุมหาชัย

กระทั่งได้มาเป็นพญาศรีสัตตนาคราช ผู้เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวงในแม่น้ำโขง หล่อด้วยทองเหลือง 7 เศียร ขดลำตัว 3 ชั้น ความกว้างรวมหาง 4.49 เมตร สูงรวมฐาน 10.29 เมตร น้ำหนักรวม 9,000 กิโลกรัม ประดิษฐานอย่างสง่างามริมแม่น้ำโขง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศได้สักการะขอพร ต่อมาด้วยความศักดิ์สิทธิ์ได้กลายแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด

โดยการสร้างพญาศรีสัตตนาคราช มีการสืบสานต่องานจากผู้ว่าคนที่38 ถึงนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผวจ.นครพนมคนที่ 39 สำเร็จลุล่วงในสมัยนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ เป็น ผวจ.นครพนมคนที่ 40 รวมระยะเวลา 5 ปี มีพิธีสมโภชครั้งแรกในวันที่ 9 กันยายน 2559 ถือเป็นเอกฤกษ์อุดมมงคลโชค รวม 9 วัน 9 คืน (9-17 กย.59) ต่อมาได้เปลี่ยนวันบวงสรวงมาเป็นวันที่ 7 เดือน 7 (7 กค.) เนื่องจากองค์พญานาคมี 7 เศียร โดยกำหนดให้จัดในวันและเดือนดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสานประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ความเชื่อและศรัทธา 7 เดือน 7

ภายในงานตลอด 7 วัน 7 คืน เต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ขบวนแห่เครื่องสักการะบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ขนาดความสูง 7.7 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศไทย ขบวนนางรำกว่า 2,000 คน ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 68 นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผวจ.นครพนม พร้อมคณะจะเดินทางไปพบเจ้าแขวงคำม่วน สปป.ลาว ด้วยตนเอง เพื่อเชิญมาร่วมงานบวงสรวง และนำสินค้าที่ขึ้นชื่อมาจัดวางจำหน่าย แก่นักท่องเที่ยวภายในงานด้วย

นอกจากนี้มีแขกรับเชิญพิเศษ เช่น แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023,กิ๊ก ดนัย จารุจินดา,แคท อาทิติยา และนักแสดงชื่อดังอีกมากมาย การแสดงแสง สี เสียง พิธีเปิดงานสุดอลังการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (หมอลำ) การสาธิตและประกวดการจัดทำบายศรี การจัดแสดงวิถีชีวิต 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ มหกรรมโรงทานจากผู้มีจิตศรัทธา ถนนคนเดินจำหน่ายสินค้า OTOP จาก 12 อำเภอ และเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว การจำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าธงฟ้าราคาประหยัด และสินค้าจากคาราวานทั่วประเทศ

ซึ่งวันบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช หรือ วันที่ 7 เดือน 7 ประจำปี 2568 ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว เดินทางกราบไหว้อธิษฐานขอพร เสริมความเป็นสิริมงคลให้ชีวิต และร่วมเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สัมผัสได้ด้วยตนเอง นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ไม่ควรพลาด กับประสบการณ์อันทรงคุณค่า ในช่วงเวลาพิเศษของงานประเพณี ในดินแดนเมืองสุขที่สุดริมโขงนครพนม

โดยผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติม ว่า ปกติถือเป็นประจำทุกปีที่ น้องชมพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์ นักวอลเล่ย์บอลหญิง ทีมชาติไทย ลูกหลานคนนครพนมโดยกำเนิด หากไม่มีโปรแกรมแข่งขันที่ไหน จะต้องมารำถวายพ่อปู่พญานาคทุกปี แต่ปีนี้ติดแข่งขันกับทีมต้นสังกัดประเทศอเมริกา จึงไม่สามารถมาร่วมรำบวงสรวงได้

หน้าแรก » ภูมิภาค