วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:22 น.

ภูมิภาค

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ 300 ตัว บินรวมฝูงที่เขาปู่-เขาย่า พัทลุง ครั้งแรกในรอบปี

วันอาทิตย์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 15.16 น.

พัทลุง-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ต.เขาปู่ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง พบฝูง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ กว่า 300 ตัว อพยพมาหากินอยู่ในป่าเขตอุทยาน และบินวนอยู่ตามหมู่บ้านใกล้เคียง ต่อเนื่องนาน 3 วัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยพบเห็นนกเงือกชนิดนี้รวมฝูงจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีฝูงนกเงือกอพยพเข้ามาหากินบริเวณสำนักงานเขตอุทยานฯ

 


ผู้สื่อข่าวและกลุ่มช่างภาพนกพากันมาตั้งกล้องรอถ่ายภาพตั้งแต่เช้ามืด กระทั่งเวลาประมาณ 06.30 น. พบฝูงนกเงือกประมาณ 200 ตัว บินวนรอบบริเวณและเกาะพักตามต้นไม้ใหญ่ ช่างภาพและนักท่องเที่ยวต่างได้ภาพนกสวยงามอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยพบการรวมฝูงนกเงือกจำนวนมากในจังหวัดพัทลุงมาก่อน

 


นกเงือกกรามช้างปากเรียบ จัดเป็นนกหายาก ลักษณะคล้าย นกเงือกกรามช้าง ต่างกันตรงที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบไม่มีขีดสีดำใต้ถุงคอ ปากล่างไม่มีขีด และตัวเล็กกว่าชัดเจน ตัวผู้มีถุงใต้คอสีเหลือง ส่วนตัวเมียถุงใต้คอสีฟ้า ช่วงเดือนมิถุนายนถึงต้นสิงหาคมของทุกปี นกชนิดนี้จะอพยพจากป่าตะวันตก ลงมาหากินรวมฝูงในภาคใต้จนถึงชายแดนมาเลเซีย กลางคืนจะพักตามยอดไม้ใกล้หมู่บ้าน เช่น ที่บ้านช้อนทอง อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งพักประจำของนกชนิดนี้ ก่อนจะแยกย้ายหากินในป่าอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วภาคใต้ จากนั้นจะอพยพกลับไปผสมพันธุ์ในป่าตะวันตกของไทย เป็นวงจรชีวิตตามธรรมชาติ

 


ด้าน ดร.ประเสริฐ นนประกาญจน์ นักวิชาการความหลากหลายทางระบบนิเวศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า นกเงือกกรามช้างปากเรียบที่พบในเขตอุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า เป็นฝูงนกที่อพยพลงใต้เพื่อหากินในช่วงฤดูอพยพ ส่วนใหญ่บินมาจากรอยต่อป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และจากฝั่งประเทศเมียนมา จะใช้เวลาหากินทางใต้ราว 3 เดือน ก่อนจะบินกลับถิ่นเดิม โดยพื้นที่อุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า ถือเป็นป่าที่สมบูรณ์และปลอดภัย เหมาะแก่การพักอาศัย

 

 

ขณะที่ นายบุญเลิศ ชายเกตุ ช่างภาพนกผู้เฝ้าติดตามนกเงือกมาหลายปี เผยว่า ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พบ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ บินมาหากินจำนวนมากในเขตอุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า ก่อนหน้านี้เคยพบเพียงหลักสิบตัว แต่ปีนี้พบมากกว่า 300 ตัว ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยสังเกตมา

 

หน้าแรก » ภูมิภาค