วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:56 น.

ภูมิภาค

เครือข่ายลุ่มน้ำโขงจี้รัฐเร่งแก้พิษสารปนเปื้อน-น้ำท่วม เล็งยื่น UN Women ตั้งกองทุนช่วยผู้ประสบภัย

วันอาทิตย์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 19.38 น.

เชียงราย – วันที่ 13 ก.ค. 2568 ที่วัดพระธาตุสองพี่น้อง บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงกว่า 145 คน จากหลายองค์กร อาทิ เครือข่ายแม่ญิงลุ่มน้ำโขง กลุ่มแม่ญิงชนเผ่า สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต Oxfam รวมถึงนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย ได้ประชุมร่วมกันในหัวข้อ “แม่น้ำโขงรุกหนัก” เพื่อระดมความคิดเห็นต่อปัญหาสารพิษปนเปื้อนและอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนในลุ่มน้ำโขง น้ำกก น้ำสาย และน้ำรวก


ช่วงเช้า มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการปัญหาน้ำท่วม และมีแนวคิดจัดตั้ง กองทุนแม่น้ำโขงลุ่มน้ำภาคเหนือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงเปิดรับสมาชิกเครือข่ายรักแม่น้ำโขงเพิ่มเติม

 



ช่วงบ่าย มีเวทีเสวนาในหัวข้อ “สารพิษกับคนลุ่มน้ำโขงและน้ำสาขา” โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ข้อมูล เช่น ดร.สืบสกุล กิจนุกร (ม.แม่ฟ้าหลวง), ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล (มทร.ล้านนา), ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร (ม.เชียงใหม่), ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ (มรภ.เชียงราย) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง ผอ.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และตัวแทนจาก UN Women


ที่ประชุมย้ำถึงปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก สาย รวก และโขง ที่มาจากการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา สร้างผลกระทบต่อเกษตร ประมง และการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพราะกังวลปนเปื้อนสารพิษ

 


นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงจากลุ่มน้ำต่างๆ ได้รับผลกระทบทั้งจากน้ำท่วมและสารพิษ จึงเตรียมยื่นข้อเสนอถึง UN Women ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสารพิษ พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


“ข้อเรียกร้องสำคัญ คือ อยากให้รัฐบาลจริงจังในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาการตอบสนองยังล่าช้า โดยเฉพาะฝั่งเมียนมายังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา ส่วนในฝั่งไทย ก็ยังไม่มีศูนย์ตรวจวัดคุณภาพน้ำที่เชียงรายซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ปัญหาโดยตรง” นายสายัณน์กล่าว

 

 

ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังขาดความมุ่งมั่นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยมักอ้างว่าสถานการณ์สารพิษ “คงที่” ทั้งที่ผลตรวจจากกรมควบคุมมลพิษครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2568 พบว่าน้ำในแม่น้ำกก สาย และรวก ยังมีสารหนู ตะกั่ว และแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน ส่วนแม่น้ำโขงพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน


“รัฐบาลมักบอกว่าใช้กลไก MRC หรือ LMC เจรจา แต่จนถึงตอนนี้ เมียนมายังไม่กำหนดวันเจรจาอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่จริงจังมากพอ ต่างจากปัญหาเขตแดนกับกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลใช้ความพยายามเจรจามากกว่า” ดร.สืบสกุลกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันการแก้ปัญหาผ่านทุกกลไกระหว่างประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

 

หน้าแรก » ภูมิภาค