วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 18:01 น.

ภูมิภาค

ป่าผาเม่น-ภูพอก แผนการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าสัตว์ป่า ให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

วันจันทร์ ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 16.44 น.

นายประวัติศาสตร์  จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน มรดกโลก (ในผืนป่ารอยต่อ 2 จังหวัด จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครราชสีมา)  กล่าวว่า  “ป่าผาเม่น-ภูพอก”  เป็นแผนการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก:ความหวังท่ามกลางสมรภูมิคนกับช้างป่ารอบผืนป่าทับลาน  

เร็ว ๆนี้จะเป็น ศูนย์เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า มีที่พักสำหรับนักวิจัยและอาสาสมัคร ใช้ฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่า อาทิ การปรับปรุงทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ป่า ปลูกไม้ป่าเสริมธรรมชาติ ทำโป่งเทียม และแหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการชิงเผา เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดและกำจัดปรสิตในพื้นที่ แม้ว่าในภาพรวมทั่วประเทศไทย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Human-Elephant Conflict: HEC) จะยังคงมีแนวโน้มรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ใจกลางผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ครอบคลุมจังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมา กำลังเกิด “เรื่องราวความพยายาม” ที่ไม่ธรรมดา

ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานได้ทำงานร่วมกับ เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น พระสงฆ์นักอนุรักษ์ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ อย่าง WWF ประเทศไทย, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และ สมาคมธรรมชาติและสัตว์ป่า (NWA) รวมถึงหน่วยงานรัฐทุกระดับ สื่อโซเชียลเช่นเพจผ้าขาวม้าติ่งป่า สถาบันการศึกษา ต่างๆ ด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ทั้งเพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ที่อาจบานปลาย ผลลัพธ์ที่จับต้องได้คือ ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนหรือช้างป่าในพื้นที่นี้ตลอดปีที่ผ่านมา — ตัวเลขที่อธิบายทุกหยาดเหงื่อ ความอดหลับอดนอน และความร่วมมือที่ไม่อาจประเมินค่าได้ด้วยเงิน

เมื่อฤดูฝนมาเยือน   เข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ ความท้าทายกลับมาอีกครั้ง โดย ฝั่งเหนือของอุทยานฯ ใน จ.นครราชสีมา ยังคงควบคุมได้ดี ด้วยการเฝ้าระวังเข้มข้นจากชุดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (ThapLan's Rapid Response Teams) ร่วมกับเครือข่ายสงฆ์และประชาชนอนุรักษ์สัตว์ป่า และชุมชนท้องถิ่นในแนวปราการระหว่างป่าธรรมชาติต่อเนื่องพื้นที่เกษตรกรรม ที่คอยผลักดันช้างไม่ให้ออกมาทำลายพืชไร่

แต่ทาง ฝั่งใต้ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี สถานการณ์ยังน่าห่วง ไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมเครือข่ายชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันผลักดัน ช้างป่ากว่า 70 ตัว กลับเข้าป่า สู่ เขตฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าผาเม่น-ภูพอก พื้นที่กว่า 80,000 ไร่ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ซึ่งเป็นแนวต่อเชื่อมสำคัญที่ช้างและสัตว์ป่าจะข้ามไปยัง เขาใหญ่ ผ่านทางเชื่อมผืนป่า (Wildlife corridor) ให้เป็นไปตามเป้าประสงค์

ชุดเฝ้าระวังยังคงต้องทำงานหนัก คอยติดตามการเคลื่อนตัวของฝูงช้างทุกคืน เพื่อปกป้องสวนผลไม้และไร่นาของเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากความขัดแย้งสู่การอยู่ร่วมกัน   ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายใหญ่ในแผน การจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า 5 ปี (2568–2572) หรือ HEC C2C (Conflict to Co-existence) ที่ออกแบบร่วมกันโดยอุทยานฯ ชุมชน และองค์กรพันธมิตร เพื่อสร้าง “ทางออกระยะยาว” ให้คนและช้างป่าได้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

เขตฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าผาเม่น-ภูพอก ไม่เพียงถูกวางเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการรองรับสัตว์ป่าที่เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังถูกพัฒนาภายใต้การขับเคลื่อนโดยอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับงบสนับสนุนริเริ่ม จาก WWF ประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ ให้เป็น ศูนย์เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า มีที่พักสำหรับนักวิจัยและอาสาสมัคร ใช้ฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่า อาทิ การปรับปรุงทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ป่า ปลูกไม้ป่าเสริมธรรมชาติ ทำโป่งเทียม และแหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการชิงเผา เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดและกำจัดปรสิตในพื้นที่  

ความหวังที่จะเป็นจริง และกำลังอยู่ในขั้นพิจารณางบจากแผนจังหวัดปราจีนบุรี ปี 2570 เพื่อสร้างอาคารนิทรรศการ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และสนับสนุน การท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่าโดยชุมชนมีส่วนร่วม สร้างรายได้ทางเลือก และทำให้การอนุรักษ์กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

เพราะเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ... วันนี้ คนแนวหน้าเหล่านี้  เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ชุมชนท้องถิ่น พระสงฆ์ และผู้คนอีกมากมาย ยังคงต้องอดหลับอดนอน ทำงานรอบเขตและในป่าธรรมชาติ เพื่อหยุดยั้งช้างออกจากพื้นที่ป่าให้มากที่สุด เพราะปลายทางคือการสร้างความปลอดภัยทั้งสำหรับคนและช้างป่า ให้เราได้แบ่งปันผืนป่าผืนเดียวกันอย่างสันติ   ความพยายามที่ยังต้องดำเนินต่อไป และพวกเราสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด
 

หน้าแรก » ภูมิภาค