วันอาทิตย์ ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2567 16:57 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

ท่องเที่ยว รอยเท้า รายทาง

ออน อาร์ต : วันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559, 09.53 น.

  • “ISPAH 2016 Congress” สร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน

“ISPAH 2016 Congress” สร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน

“Active Living for All” 


เราได้ยินข้อความนี้จากงาน “The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016” ซึ่งนับเป็นเทรนด์ของโลกเลยก็ว่าได้


คือชื่อเต็มๆ ของงาน “ISPAH 2016 Congress” หรือ “การประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6” 


งานนี้จัดขึ้นที่ “ศูนย์ฯ สิริกิติ์” ระหว่าง 16-19 พ.ย.59 เป็นการประชุมนานาชาติที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก


ที่สำคัญ “ISPAH 2016 Congress” นี้ หมุนเวียนกันจัดเพื่อเน้นเรื่อง “สุขภาพ” ของประชากรโลกโดยเฉพาะ และในครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกของ “เอเชีย” เลยทีเดียว


หน่วยงานของไทยที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานคือ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ “สสส.”


ร่วมด้วย “กระทรวงสาธารณสุข” และ “กรุงเทพมหานคร” เป็นเจ้าภาพร่วม โดยมี “องค์การอนามัยโลก” หรือ “WHO” เป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการจัดงาน


บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินว่า โลกปัจจุบันเต็มไปด้วย “โรคประหลาด” ที่ยังเป็นปริศนาและยากลำบากในการรักษา แต่หนทางที่ดีกว่านั้นคือ “การป้องกัน”


ในวันเปิดงาน “ISPAH 2016 Congress” ที่ประชุมได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยแด่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เป็นเวลา 99 วินาทีก่อนการประชุม


ช่วงพิธีเปิด “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” รองนายกฯ และ “ประธานกรรมการกองทุนฯ” กล่าวถึงการจัดงาน ภายใต้หัวข้อ “Active Living for All : Active People, Active Place, Active Policy” 


ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) หรือ “SDGs” คือ มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชากรในทุกช่วงวัย 


โดยมีเป้าหมายในการลดอัตราการตายจาก “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (NonCommunicable Diseases) หรือ “NCDs” ให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573


“ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุน สสส. ยังได้ให้ข้อมูลสำคัญที่ควรตระหนักว่า จากอดีตที่เผชิญการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ แต่ปัจจุบันเป็นโรคที่เกิดจาก “พฤติกรรม” ในชีวิตประจำวัน 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม และ “การขาดการออกกำลังกาย” ในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค “NCDs” เพิ่มสูงขึ้น 


การประชุมฯ จะช่วยกันผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนระดับโลกที่ทุกประเทศมีส่วนในการออกแบบร่วมกันหรือเรียกว่า “Bangkok Declaration” ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้


ข้อมูลที่น่าตื่นตระหนกที่เราได้รู้ในการเข้าร่วมวันเปิดงานคือ “การไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย” (Physical Inactivity) เช่น นั่งทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้เท่ากับหรือมากกว่า “การสูบบุหรี่” ด้วย


ถึงขั้นที่ว่าในต่างประเทศมีคำกล่าว “Sitting is the new smoking” เป็นที่มาของการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวันให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนั่นเอง


นอกเหนือจากการประชุมและรายงานสรุปข้อมูลที่น่าสนใจและควรตระหนัก รวมถึงนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเสริม “สุขภาพ” แล้ว


ภายในงานยังมีบูธกิจกรรมต่างๆ ของ “สสส.” อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมที่ช่วยในการ “ฝึกทักษะสมอง” ในเรื่องความจำ ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ ชื่อว่า “ตารางเก้าช่อง” 


วิธีเล่นนั้นไม่ยากยาก โดยจะเป็นการกำหนดสเต็ปการเดินให้ “4 รูปแบบ” แล้วผู้เล่นจะต้องจดจำ จากนั้นต้องเดินให้ถูกทั้ง 4 แบบต่อเนื่องกัน 


“ตารางเก้าช่อง” นี้ยังสามารถประยุกต์ใช้สอน “คณิตศาสตร์” ให้เด็กได้อีกด้วย ตัวอย่างการสอนเรื่องการบวกเลข โดยให้เด็กยืนที่เลข 2 แล้วตั้งโจทย์ 2+3 เป็นเท่าไร ก็ให้เด็กก้าวไปยังตัวเลขคำตอบที่ถูกต้อง


อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ “Say Color” โดยจะมีคำศัพท์สีต่างๆ ซึ่งต้องตอบสีของตัวอักษรที่เห็น เช่น ตัวอักษรเขียนคำว่า “Green” แต่สีของตัวอักษรเป็น “สีฟ้า” เราต้องตอบว่า “Blue” 


กิจกรรม “Say Color” นั้น มีประโยชน์ในการฝึก “สมองซีกซ้ายและขวา” ให้ทำงานสัมพันธ์กันนั่นเอง
    

นอกจากบูธ “สสส.” แล้ว ยังมีบูธของ “กรมอนามัย” ซึ่งมี “Inbody Test” ที่ใช้สำหรับวัดองค์ประกอบของร่างกาย ได้แก่ ไขมัน โปรตีน กระดูก และน้ำ ตรวจการลดลงของไขมัน เปอร์เซ็นต์กล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น 


รวมทั้งบอก “ปริมาณของกล้ามเนื้อ” แบบเฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละส่วนของร่างกาย เช่น แขน ขา แสดงผล “ปริมาณแคลอรี” ที่ร่างกายต้องการต่อวัน บอกผล “ดัชนีมวลกาย” และ “น้ำหนัก” ที่ควรละลด 


รวมถึงบอก “ปริมาณไขมัน” ในร่างกาย ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ และมีการแจกเอกสารความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ และโปสเตอร์ “ท่าออกกำลังกาย” ที่สามารถทำได้เองที่บ้านอีกด้วย


อีกบูธที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “คนไทยไร้พุง” มีการจัดแสดงปริมาณ “แคลอรี” ของอาหารแต่ละจาน และมีเข็มขัดวัดใจ วัดพุง โดยหยิบ “เข็มขัดตามความสูง” แล้วมา “วัดพุง” ว่าจะ “คาดถึง” หรือ “คาดไม่ถึง”


ส่วนบูธ “SOOK” มีการนำเสนอและจำหน่ายผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการ “ขอเปลี่ยน Design Contest” ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ออกแบบนวัตกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ 


ผลงานชนะเลิศปีนี้คือ “MUMA CARD GAME” เป็นการ์ดเกมวิธีเล่นเหมือน “ไพ่ UNO” การ์ดแต่ละใบจะกำหนด “ท่าออกกำลังกาย” ไว้ ผู้เล่นที่มีการ์ดในมือเหลือเป็นคนสุดท้ายต้องออกกำลังกายตามท่าบนการ์ด


ขณะที่ “บูธ Mindfulness in PA” เป็นกิจกรรม “สติกับกิจกรรมทางกาย” เป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับสติกับกิจกรรมทางกาย โดยมีกิจกรรมวัดความมีสติ 5 กิจกรรม


ทั้งการให้ “ยกดัมเบล” ท่าต่างๆ แล้วให้บอกว่ารู้สึกถึงบริเวณแขนส่วนไหนบ้าง การให้ใช้มือทั้งสองข้าง “ตบลูกอม” ที่ปล่อยลงมาจากด้านบนให้ได้ และการให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ง “จับธนบัตร” ที่ปล่อยลงมา


รวมถึงการให้ “ลากเส้นตรง” ในแนวนอนเป็นเส้นขนาน และ “ปักผ้า” ลายต่างๆ ซึ่งเมื่อทำครบทั้ง “5 กิจกรรม” ก็จะวิเคราะห์ความมีสติกับกิจกรรมทางกายของเราได้


“ISPAH 2016 Congress” นอกจากจะเป็นความภูมิใจของ “ประเทศไทย” ในการเป็นเจ้าภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ทุกคน ในดูแลและรักษา “สุขภาพ” อย่างจริงจัง และถูกวิธีอีกด้วย


“สุขภาพที่ดีหาซื้อไม่ได้แต่สร้างขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง”

 
ออนอาร์ต / roythao@yahoo.com