วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 18:09 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

บ้านเมืองพระเครื่อง

เจษ เมืองนนท์ : วันอาทิตย์ ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 14.36 น.

“บ้านเมืองพระเครื่อง” โดย อ.เจษ เมืองนนท์

“บ้านเมืองพระเครื่อง” โดย อ.เจษ เมืองนนท์

เรียนรู้ด้วยเหตุผล

การศึกษาพระสมเด็จควรจะตั้งอยู่บน “หลักการและเหตุผล” ที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลตามหลักธรรมชาติ

การเรียนรู้ศึกษาพระสมเด็จนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย..

 ความยากของการเรียนรู้ก็คือ ประสบการณ์ที่ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนสอนว่า พระสมเด็จต้องแห้งแต่หนึกนุ่ม คนที่มีประสบการณ์จะนึกภาพออกว่าแห้งแบบไหน หนึกนุ่มอย่างไร แต่คนไม่มีประสบการณ์จะเข้าใจไปอีกแบบ บางครั้งเข้าใจผิดๆ และจดจำแบบนั้นๆไว้จนทำให้หลงทาง

 แล้วที่ว่าง่ายล่ะ..ง่ายอย่างไร?

 การศึกษาที่ได้ผลดีคือการยึด “หลักการและเหตุผล” ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุผลรองรับ ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญมีดังนี้

 1.ศึกษาจากตำรับตำราของเซียนรุ่นเก่าๆ ข้อนี้คือการปูพื้นฐานความรู้ให้กับตัวเราให้ได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ พิมพ์ทรง และที่มาที่ไปของพระแต่ละพิมพ์ เพื่อเป็นภูมิต้านทานให้กับตัวเราเอง

 2.ศึกษาจากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่สนิท ทั้งแบบที่สอนโดยตรง และแบบครูพักลักจำ ซึ่งจะได้ประโยชน์มาก แต่ข้อควรระวังก็คือ ควรคัดเลือกผู้ที่รู้จริงมาเป็นครู จะได้ไม่หลงทางออกอ่าวออกทะเลจนหาทางกลับไม่เจอ

 3.การเดินสนามตลาดพระบ่อยๆ อันนี้จะเพิ่มประสบการณ์โดยตรงในการดูพระเก๊ เพราะในสนามพระนั้น จะมีพระเก๊ทุกแบบทุกพิมพ์ให้เราศึกษา ซึ่งในปัจจุบันนั้น การถอดพิมพ์พระค่อนข้างเหมือนมากๆ เพราะใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย พระที่ออกมาจึงเหมือนมากๆ หากเราไม่เคยเดินสนามพระ เราจะไม่มีวันแยกแยะพระเก๊พระแท้ได้เลย

 มีเรื่องเล่าขำๆในสนามพระว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งออกคลิปพระสมเด็จเนื้อดำแม่เหล็กดูดติด พอคลิปเผยแพร่ออกมาไม่ถึงสัปดาห์ ปรากฏว่ามีพระสมเด็จเนื้อดำแม่เหล็กดูดติดวางขายกันเกลื่อนสนามพระเลยทีเดียว

 4.ศึกษาจดจำหน้าพระแท้ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหากมีโอกาสได้ส่องพระแท้ๆ ต้องส่องอย่างมีสติ พิจารณาทั้งพิมพ์ทรง เนื้อหา ความหนึกนุ่มฉ่ำนวลของผิวพระ ซึ่งจะช่วยให้เราติดตาพระแท้ได้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ภาพพระแท้ๆในสื่อโซเชี่ยลมีมากกว่าแต่ก่อน ทำให้ศึกษาได้ง่ายขึ้น

 การศึกษาในข้อ 4 ถือว่าเป็นตำราที่สำคัญ คือดูจากหน้าพระ และเป็นตำราเล่มเดียวกับเซียนใหญ่ที่ศึกษาตำราเล่มนี้เช่นกัน ต่างกันเพียงเซียนใหญ่มีโอกาสส่องพระได้มากกว่าเราเท่านั้น แต่มันก็ไม่อับจนซะทีเดียว เพราะในปัจจุบัน มีการโพสภาพพระแท้ให้เราได้ศึกษามากขึ้น แม้จะเป็นแค่ภาพถ่าย แต่ยังไงก็ยังพอมีรายละเอียดให้ได้ศึกษา และพระที่พบเห็นในอินเตอร์เน็ทนั้น ก็ถือว่าเป็น “ตำราเล่มเดียวกัน” กับที่เซียนศึกษาอยู่ดี คือศึกษาจาก “หน้าพระ” เหมือนๆกัน สมกับที่มีการพูดกันว่า “พระแท้ แท้ที่องค์พระ”

โดยสรุปแล้ว การศึกษาพระสมเด็จควรจะตั้งอยู่บน “หลักการและเหตุผล” ที่สามารถอธิบายได้ ด้วยเหตุผลตามหลักธรรมชาติ โดยมองข้ามนิยายพระมรดก พระบ้านมีตำนาน เพราะมันอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ เป็นแค่นิยายของคนขายพระเท่านั้น ส่วนทฤษฎีต่างๆที่ใช้ตรวจพระ ก็ขอให้นำหลักการเหตุผลเข้าไปพิจารณา หากมีเหตุผลรองรับเพียงพอ ก็ศึกษาต่อ แต่ถ้าไม่มีเหตุผล ก็พอแค่นี้ครับ

เน้นย้ำอีกครั้ง ศึกษาแบบมี “หลักการและเหตุผลตามธรรมชาติ” ที่อธิบายได้ แล้วท่านจะไม่หลงทางครับ