วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:50 น.

การเมือง

กกต.เรียก "พิธา" แจงปมถือหุ้นไอทีวีด่วน ก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันจันทร์ ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 14.14 น.

กกต.เรียก "พิธา" แจงปมถือหุ้นไอทีวีด่วน ก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พรรคก้าวไกลร่อนสารค้านทันควัน ขณะที่ "ประเสริฐ" เชื่อ กกต.ให้ความเป็นธรรมหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยันไม่กระทบโหวตนายกฯ ย้ำเพื่อไทยไร้แผนสำรอง "สมชัย" รับหากกกต.ส่งศาล รธน.ส่งผลโหวตนายกฯแน่ 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566  เวลา 13.00 น.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งหนังสือเชิญนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าพบด่วน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ พร้อมข้อกล่าวหา เหตุของการสืบสวน ก่อนยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีผุ้ร้องว่าถือหุ้นไอทีวี ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่

วันเดียวกันนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ส่งหนังสือด่วนไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคัดค้านการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ่นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กกต. นัดประชุม กรณีมีผู้ยื่นร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล มีชื่อถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 101 (6) หรือไม่ โดยคณะกรรมการมีการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเสนอต่อที่ประชุม กกต. พิจารณาในต้นสัปดาห์นี้ ตามวาระการประชุมปกติ ของ กกต.ซึ่งจะมีประชุมทุกวันจันทร์และอังคารของสัปดาห์ คือวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2566  

 "ประเสริฐ" เชื่อ กกต.ให้ความเป็นธรรมหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแปดพรรคร่วมนัดหารือในวันพรุ่งนี้ (11 กรกฎาคม) ว่าจะเป็นการพูดคุยกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม นอกจากนี้ อาจมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบ้าง  นายประเสริฐกล่าวต่อว่า หลังจากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดหมายให้มีการประชุมวิปสามฝ่าย เวลา 11.00 น. เพื่อกำหนดแนวทางในการประชุมวันที่ 13 กรกฎาคม ว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องอาศัยข้อบังคับข้อใดบ้าง และก่อนโหวตควรจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนหรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่าแนวทางการโหวตของแปดพรรคร่วมมีความชัดเจน เป็นเอกภาพ และเป็นไปตามเอ็มโอยูที่จะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเสียงของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐกล่าวว่า เท่าที่สอบถามทางพรรค ก.ก.เขาก็ยืนยันว่าสามารถหาเสียง ส.ว.ได้เพียงพอ และเข้าใจพรรค ก.ก.เป็นอย่างดีว่าคงไม่เปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากการโหวตครั้งนี้มีความสำคัญ แต่ก็ได้รับการยืนยันจากแกนนำพรรค ก.ก.เสมอว่าได้รับเสียงที่เพียงพอ ฉะนั้น ก็เป็นไปตามนี้ก่อน

ถามต่อว่า จำเป็นต้องมีการถามพรรค ก.ก.หรือไม่ เพราะหากพรรค พท.สามารถคุยกับ ส.ว.คนใดได้จะได้ช่วยคุย นายประเสริฐกล่าวว่า มีการสอบถามกันอยู่บ้าง แต่หลักๆ จะอยู่ที่พรรค ก.ก. เนื่องจากพรรค ก.ก. อาจจะยังไม่อยากเปิดเผยอะไรมากนัก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนโหวต และเราเข้าใจดีว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงถามเท่าที่ทำได้

เมื่อถามว่า ต้องมีการพูดคุยกันหรือไม่ว่าหากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอาจเสนอชื่อคนแข่ง นายประเสริฐกล่าวว่า คิดว่าวันพรุ่งนี้อาจมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รายละเอียดมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น หากไปถามบ่อยๆ ก็จะดูอย่างไรอยู่ ต้องให้เกียรติเขาในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเป็นพรรคหลักที่ไปประสานงานกับ ส.ว.

เมื่อถามถึงกระแสที่ออกมาค่อนข้างมองว่าจะโหวตไม่ผ่านในรอบแรก พรรค พท.มองว่าจะโหวตอีกกี่ครั้ง นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้นายวันมูหัมมัดนอร์จะต้องนำมาหารือกับแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรคว่าหากโหวตครั้งแรกไม่ผ่านจะมีแนวทางอย่างไรในครั้งต่อไป จึงยังไม่อยากสรุปไปก่อนว่าจะออกมาทิศทางใด

ถามต่อว่า หากนายพิธาไม่ได้เสียงในครั้งแรก พรรค พท.มองแผนสำรองไว้อย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า ยังไม่มองไปไกลและไม่มีแผนสำรอง เพราะวันนี้เราจะต้องให้เกียรติพรรค ก.ก.ก่อน พรรค พท.จึงยังไม่สมควรที่จะมาพูดเรื่องนี้ ให้ดูกันวันที่ 13 กรกฎาคม ก่อนค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง

เมื่อถามถึงประเด็นและเงื่อนไขหลักที่ ส.ว.จะไม่ยกมือให้นายพิธาคือเรื่องการแก้ไข ม.112 แล้วจุดยืนของพรรค พท.เป็นอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า วันที่พรรค พท.และพรรค ก.ก.แถลงข่าวในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้พูดคุยเรื่องข้อตกลงเอ็มโอยูกันแล้วว่าพรรค พท.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 และขอสงวนความเห็นหากจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา ดังนั้น จุดยืนของพรรค พท.มีความชัดเจนอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มี ส.ว.ออกมาเตือนว่าหาก 8 พรรคร่วมโหวตบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติจะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ พรรค พท.มีความกังวลหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของ ส.ว.แต่ละคน ซึ่งตนมองว่าเป็นเพียงการส่งสัญญาณออกมา และท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าไม่ว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ทุกคนมีวุฒิภาวะและดุลพินิจที่จะตัดสินใจเองได้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าอาจจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในวันโหวตนายกรัฐมนตรี หากครั้งแรกไม่ผ่าน เพราะจะมีมวลชนมาให้กำลังใจด้วย นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่กังวล ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย สามารถชี้แจงกับทุกฝ่ายได้ถึงที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คิดว่าสภาจะสามารถให้เหตุผลกับประชาชนได้ และคิดว่าประชาชนจะเข้าใจด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมประชุมส่งเรื่องหุ้นไอทีวีของนายพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 8 พรรคร่วมจะนำเรื่องนี้มาพูดคุยหรือไม่ หากนายพิธาถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายประเสริฐกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้อยู่ในหัวข้อการพูดคุยในวันพรุ่งนี้ แต่หากดูจากข่าวคำร้องที่ กกต.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำร้องที่นายพิธายื่นไปยัง กกต.ขอให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า กกต.จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องคือนายพิธา และเชื่อว่าหากมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งนายพิธาและพรรค ก.ก.จะสามารถตอบคำถามและชี้แจงเรื่องนี้ได้ มั่นใจว่าไม่กระทบกับวันที่ 13 กรกฎาคม การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะยังคงดำเนินต่อไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

"สมชัย" รับหากกกต.ส่งศาล รธน.ส่งผลโหวตนายกฯ 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิชัยการเมือง และการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเสนอกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น เข้าที่ประชุม กกต.ในเวลา 13.00 น.

คาดว่าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าหากที่ประชุม กกต. มีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเร็วที่สุดน่าจะภายในวันนี้ ช้าสุดคือพรุ่งนี้ (11 ก.ค.66) ซึ่งหากส่งเรื่องไปยังฝ่ายธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นการรับเรื่องเฉย ๆ ไม่มีผลอะไร แต่หากเสนอเป็นวาระพิจารณารับเรื่อง เป็นไปได้ว่าจะเข้าที่ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธนี้ (12 ก.ค.66)

โดยที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ได้ ส่งผลให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ นายพิธาจะไม่สามารถเข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส. แต่จะเข้าสภาในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจะสั่งให้หยุด หรือไม่หยุดปฎิบัติหน้าที่ เรื่องนี้จะมีผลให้ ส.ส และ ส.ว.จำนวนหนึ่งหยิบยกไปเป็นข้อกล่าวอ้างในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอาจจะงดออกเสียง เนื่องจากคุณสมบัติไม่ชัดเจน อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต

เรื่องดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี เพราะเป็นการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแบบเร่งรีบ เป็นจังหวะใกล้กับวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ กกต.จะกล่าวอ้างว่ามีการพิจารณาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ประชาชนจะมองว่า องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือจัดการคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กกต.ยังไม่เรียกนายพิธา เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงจะถือว่ากระบวนการตรวจสอบครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ นายสมชัย ระบุว่า หากจะให้เกิดความสมบูรณ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะเวลา กกต. ตัดสิทธิบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ครบ จู่ ๆ ก็ตัดเลย โดยไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจง หากเป็นกรณีการดำเนินคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 จะต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงด้วย

แต่กรณีที่ดูจากคุณสมบัติแล้วตัดสิทธิ ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยเรียกใครเข้ามาชี้แจง ในอดีตการตัดสิทธิมักจะอยู่ในจังหวะที่รับสมัครเสร็จแล้วตรวจพบว่าขาดคุณสมบัติก็ตัดสิทธิเลย เมื่อตัดสิทธิแล้วก็ไปร้องกับศาลฎีกา ส่วนกรณีของนายพิธา ถือเป็นการพิจารณาหลังประกาศผลการเลือกตั้ง
 

หน้าแรก » การเมือง