วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:08 น.

การเมือง

 เสวนาเสรีภาพสื่อ "เสรีภาพสื่อ VS AI Surveillance : ผลกระทบ โอกาส และความท้าทาย"

วันเสาร์ ที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 18.46 น.

วงเสวนาเสรีภาพสื่อฯ นักวิชาการมธ.เตือน หากใช้ AI ต้องตรวจสอบให้หนัก เพราะอาจเหยื่อของ AI ที่กุมอำนาจข่าวสารอยู่ สุดท้ายหากใช้มากเกินไปอาจกลายเป็น IO ได้ ด้านตัวแทนกระทรวงดีอีห่วงข่าวเท็จเล็งปรับกฎหมายควบคุม AI ขณะที่ กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ ย้ำสื่อต้องเน้นจริยธรรม-ความเป็นมืออาชีพ อย่าไว้ใจ AI เพราะสื่อต้องมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2568  วงเสวนาหัวข้อเสรีภาพสื่อ “เสรีภาพสื่อ VS AI Surveillance : ผลกระทบ โอกาส และความท้าทาย” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยรศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการค้นข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าทุกประเทศให้ความสำคัญกับหัวข้อการเสวนาในวันนี้มาก โดยเฉพาะสหพันธ์นักข่าวนานาชาติ ดังนั้นเรารู้สึกดีใจว่ามันถึงเวลาแล้วที่สื่อจะต้องร่วมมือกันผนึกกำลัง เพราะจริงๆ แล้วภายใต้ AI มันคือทุนนิยมหรือไม่ ซึ่งเป็นทุนนิยมที่อยู่ภายใต้เทคโนโลยีนี้ที่จะเป็นฝ่ายได้ผลประโยชน์ เชื่อว่าในทุกคนในที่นี้จะต้องจ่ายเงินซื้อแพลตฟอร์มต่างๆ ตนชอบที่สหพันธ์นักข่าวนานาชาติระบุว่าวันนี้มันควรจะต้องเป็นวาระสังคมที่จะต้องมาคุยกัน เพราะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือคนข่าว ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่นายทุนข่าว แต่หมายถึงพวกเราที่นั่งอยู่ในที่นี้ ซึ่งเป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อยแต่เป็นกลไกหลักที่สำคัญอยู่

รศ. ดร.วิไลวรรณ กล่าวว่า วันนี้เรากำลังพูดถึงนิยามสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งคำจำกัดความของโลกตะวันตกที่กำลังกังวลว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพสื่อตัวแปรเปลี่ยนไปแล้ว โดยแต่ละช่วงเวลามีบทบริบทของโลกและสังคมที่แตกต่างกันที่จะเป็นตัวกำหนดเสรีภาพ วันนี้ตัวกำหนดเสรีภาพคือ AI สหพันธ์นักข่าวนานาชาติระบุว่ากระทบทั้งในแง่อุตสาหกรรมและการไหลของข้อมูลข่าวสาร ท้ายที่สุดคือคนข่าวตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิมีผลต่อค่าแรง เงินค่าตอบแทนของเรา ที่ AI มาทำงานแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปที่รวบข้อมูลของพวกเราไปฟรีๆ และทำให้คนข่าวสูญเสียผลประโยชน์โดยเฉพาะนักข่าวอิสระ วันนี้การมาของ AI กำลังสกัดและปิดข้อมูลบางอย่างให้โลกทั้งโลกเห็นข้อมูลเหมือนกัน ตรงนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมาก และต้องไม่ลืมว่าถ้าเราพูดถึงเชิงปรัชญา ข้อมูลคือพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ใครเป็นเจ้าของข้อมูลคนนั้นคือคนที่ถือครอง ซึ่งAI กำลังทำบทบาทนี้อยู่ ดังนั้นเราจึงต้องย้อนกลับไปว่าใครคือเจ้าของ AI ตรงนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า อีกทั้งสิ่งที่ AI กรองออกมามันคืออำนาจบางอย่างหรือไม่ นอกจากการไหลของข้อมูลข่าวสารแล้วยังมีการผลักบางอย่างออกไป ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการไหลของข้อมูลแล้ว

“นอกจากนั้น AI ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอดส่องการทำงานของพวกเราด้วย หรือสิ่งที่เรียกว่า IO ขณะเดียวกันมีการเซ็นเซอร์ด้วย ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องปกติแล้วในการไหลของข้อมูลในปัจจุบัน หากเราไม่เฝ้าระวัง AI จะสร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์สื่อ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผู้มีส่วนได้ก้อนใหญ่คือกลุ่มที่เป็นเจ้าของ AI ซึ่งในห้องข่าวจากที่ดิฉันสัมผัสมาไม่มีฝ่ายที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเลย มีเพียงไม่กี่หน่วยงานเท่านั้น เพราะสำนักข่าวต่างๆ ลดต้นทุนในการผลิต วันนี้โลกกำลังตั้งคำถามว่าบทบาทของ AI ในห้องข่าวมีขนาดไหนและอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก หากไม่สร้างสมดุลให้ดีอย่าลืมว่ามันจะมาพร้อมเรื่องของเฟคนิวส์ อย่างไม่รู้ตัวและกลายเป็นสำนักข่าวที่แพร่กระจายและเป็นเหยื่อของ AI เสียเอง”รศ. ดร.วิไลวรรณ กล่าว

ด้านนายณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ AFP Thailand กล่าวว่า ประเด็นคำถามที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ AI เป็นผลดีหรือผลเสีย ตนคิดว่าตอบยากมากเพราะมันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดการดิสรัประบบนิเวศของเรา รวมทั้งวิธีใช้ชีวิตและวิธีการทำงานของสื่อ ซึ่งการสื่อสารปัจจุบันเปลี่ยนจากเดิมคือสามารโต้ตอบกันได้ จึงจำเป็นที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นทักษะพื้นที่ฐานของนักข่าวที่ต้องนำกลับมาใช้อย่างมาก โดยต้องใช้ข้อเท็จจริงในการหักล้างคำกล่าวอ้างออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่มีผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ หรือความไว้วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถเลี่ยง AI ได้แล้ว ซึ่งในบริบทของข้อมูลข่าว AFP เราจะพยายามใช้ AIให้น้อยที่สุด เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของนักข่าวด้วยและไม่อยากให้ระบบอัตโนมัติมาแทนที่ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ของนักข่าว

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงเราจะพยายามหาต้นฉบับปฐมภูมิแหล่งที่มาของเนื้อหาทั้งหมดว่ามีข้อเท็จจริงหรือที่มาอย่างไร โดยในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูล AFP จะไม่ใช้คำว่าข่าวปลอม แต่จะใช้คำว่าข้อมูลเท็จและอธิบายพร้อมพิสูจน์ที่มาว่าเป็นมาอย่างไร และให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของนักข่าว ที่เราใช้เวลายาวนานในการสร้างขึ้นมา โดยข้อย้ำว่า AI มีความจำเป็นแต่เราใช้น้อยมากและใช้ร่วมกับทักษะอื่นๆ ด้วย

น.ส.กัลยา ชินาธิวร ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงดีอี เราเป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับดิจิทัลฯ ของประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก AI ให้เป็นไปอย่างมีจริยธรรม โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ โดยดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1.ด้านนโยบายและธรรมาภิบาล รัฐบาลการจัดตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรมว.ดีอี เป็นรองประธานเพื่อกำหนดแนวต่างๆ รวมทั้งการใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาล 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี 3.ด้านการสิ่งเสริมและการประยุกต์ใช้ (Application และ Promotion) และ 4.ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์และการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้านน.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับสิ่งน่าเป็นห่วงในการใช้ AI ในสื่อคือ การใช้ AI ผลิตเนื้อหาและกระบวนการข่าวที่เป็นข้อมูลเท็จ และข้อมูลบิดเบือนโดยเจตนา ข่าวปลอมที่มีความสมจริงจนยากจะแยกแยะได้ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับรู้ของประชาชน ความเชื่อมั่นในสื่อและความมั่นคงของสังคมและการเมืองโดยรวม โดยส่วนตัวสื่อหรือสำนักข่าวที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นก็จะมีจริยธรรมมีหลักเกณฑ์ในการนำเสนอ แต่ที่เป็นห่วงคือสื่อที่เป็นแพลตฟอร์มหรือโซเชียลมีเดียทั้งหลายที่อาจจะเอาข้อมูลจากพวกสื่อที่ถูกต้องไปใช้ AI ในการผลิตข่าวที่บิดเบือนความจริง หรือข่าวปลอม สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับสื่อ คือต้องตรวจสอบที่มาและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเทคโนโลยี AI มีการตรวจสอบข้ามกับแหล่งข้อมูลต้นทาง โดยเฉพาะเนื้อหาจาก Generative AI การเสริมสร้างการตรวจจับ Deepfake fake text และ Bot- Generative content สื่อควรมีแนวปฏิบัติภายในที่ชัดเจนในการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ประชาชนควรได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านการรู้เท่าทันสื่อ และความฉลาดรู้ทาง AI เพื่อสามารถแยกแยะข้อมูลที่ถูกต้องจากข่าวปลอม และการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบแหล่งข่าว และการตั้งข้อสงสัยอย่างมีหลักการ เป็นอีกวิธีสำคัญในการสกัดข้อมูลเท็จ ทั้งนี้กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำกฎหมายกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการจัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จด้วย

ขณะที่นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนขอย้ำใน 2 หัวข้อ เท่านั้น คือจริยธรรม กับ ความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้คนสื่อใช้เสรีภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง เรื่องของการตรวจสอบอำนาจรัฐ เปิดเผยความเหลื่อมล้ำและปัญหาต่างๆ ในสังคม ปกป้องสิทธิของประชาชน และเป็นสื่อกลางทางนวัตกรรมและความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งการเป็นสื่อกลางของความเห็นต่างของคนในสังคม ในส่วนของประเด็นทางจริยธรรม ต้องดูว่าข้อมูลบุคคลที่ได้จาก AI ไม่ตรงกับบุคคลจริงหรือบุคลิกของบุคคล การนำเสนออาจละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่ หากเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ การนำเสนอโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือว่าละเมิดโดยเจตนาและจะกลายเป็นประเด็นกฎหมายต่อไป การนำเสนอข้อมูลที่ได้จาก AI แล้วกลายเป็นผู้เผยแพร่เฟคนิวส์เสียเอง เพราะ AI ไปตามอัลกอริทึม ถ้าไม่ทำการบ้านให้ดีก็เสร็จ AI หรืออาจนำเสนอข้อมูลจาก AI ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่มีประเด็นหมิ่นประมาทที่อาจถูกฟ้อง คำถามคือสื่อผิดหรือผู้พัฒนา AI ผิด เรื่องพวกนี้จึงต้องคุยกันระหว่างเราผู้ใช้ AI ด้วยกัน

นายบรรยง กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความเป็นมืออาชีพ การตรวจสอบข้อเท็จจริงถือเป็นเรื่องความเป็นมืออาชีพของสื่อ จึงต้องมีการเลือกใช้ AI ให้เหมาะสมกับวิชาชีพ และจุดเน้นของแฟลตฟอร์ม และต้องใช้ AI ในระดับพรีเมี่ยมที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อช่วยในการนำเสนอข่าวสารที่เหมาะสม กระชับและเข้าใจ ข่าวสารที่มีความสำคัญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การอ้างอิงแหล่งที่มาเป็นความสร้างความน่าเชื่อถือ ถ้า AI ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาต้องทบทวนข้อมูลนั้นแล้ว หรือแม้ AI ระบุแต่แหล่งที่มานั้นไม่น่าเชื่อถือ ก็ต้องให้ทบทวนเช่นกัน เรื่องความเป็นมืออาชีพของสื่อกับ AI เราใช้มันเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ทำให้เราจัดการข่าวในกระแสในปัจจุบันได้ แต่อย่าไว้ใจ AI เพราะสื่อต้องมีความรับผิดชอบไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ AI ก็ตาม ทั้งนี้คนทำสื่อต้องมีความรับผิดชอบใน 3 ระดับ คือ ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะเสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบเป็นภัยต่อสังคม
 

หน้าแรก » การเมือง