วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:24 น.

การเมือง

กพช. เคาะค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.68 ไม่เกิน 3.99 ต่อหน่วย

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 16.30 น.

กพช. เคาะค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.68 ไม่เกิน 3.99 ต่อหน่วย "นายกฯอิ๊งค์" ย้ำวงประชุม "กพช." บรรเทารายจ่ายพลังงานประชาชน สั่งดูแล "ค่าเอฟที" เดือนพ.ค.-ส.ค.ไม่เกินหน่วยละ 3.98 บาทด้วย ขณะที่ "พีระพันธุ์" ยืนยันไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2568    ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2568  และได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ราคาพลังงาน เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งค่าครองชีพโดยตรงและเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ

ในการประชุมคณะกรรมการ กพช. วันนี้ จึงเน้นย้ำว่าทุกท่านจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งเพื่อบรรเทารายจ่ายพี่น้องประชาชน และต้องหามาตรการการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน และแนวทางที่รองรับพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นทั้งความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญค่ะ 

ซึ่งในเรื่องนี้ ขอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงประเด็นให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) เพื่อพิจารณากำหนดราคาที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

สำคัญที่สุด ขอให้ กกพ. ดูแลราคาพลังงานผ่านการปรับค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2568 ไม่ให้เกิน 3.98 บาท/หน่วย รวมถึงขอให้ กกพ. กฟผ. ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2568 ไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วย เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนเชื้อเพลงอย่างมีนัยสำคัญ และสุดท้ายค่ะ ขอให้มีการจัดทำแผนพลังงานฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้พิจารณาในการวางแผนการซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสมและรอบคอบต่อไปค่ะ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมว่าหากไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเข้ามากระทบ รัฐบาลมั่นใจว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนในงวดสุดท้ายของปีนี้ (เดือนก.ย.-ธ.ค.2568) จะยังอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปตามราคาเป้าหมายตามนโยบายดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพประชาชนของรัฐบาล โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

"รัฐบาลจะยังคงอัตราการค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนจะลดลงกว่านี้ได้หรือไม่ ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงราคาต้นทุนพลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ" นายพิชัย กล่าว 

ส่วนสาเหตุที่ไม่เดินทางไปเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ครั้งที่ 58 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 28 เพื่อใช้เวทีนี้ในการเจรจากำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐนั้น นายพิชัย กล่าวว่า คนละหน่วยงานกัน เราต้องใช้โอกาสนี้ในการหารือกับกระทรวงการคลัง 

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ค่าไฟฟ้าถึงสิ้นปีนี้ ไม่เกิน 3.99 ต่อหน่วย ปีแห่งการลดค่าไฟ"  และเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 – 2573 และเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีราคาลดลง ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ กกพ. 3 การไฟฟ้า และ สนพ. เจรจากับผู้ประกอบการเอกชนที่ กกพ. ประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับสิทธิขายไฟฟ้ารายการ 2,180 เมกะวัตต์ โดยอ้างอิงราคาที่ กฟผ. ได้ดำเนินการ เพื่อปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวลง ตามข้อสังเกตที่นายพีระพันธุ์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอ ทั้งนี้ให้คำนึงที่ผลกระทบค่าไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ได้ลงทุนไปแล้วด้วย

นายพีระพันธุ์  ยังเปิดเผยต่อว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการปริมาณไฟฟ้า 1,488.5 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือจากการรับซื้อในกลุ่ม 2,180 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมอบหมายให้ สนพ. ศึกษาทบทวนอัตรา รับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งนี้ จะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจนกว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งมีสาระสำคัญของแนวทาง ดังนี้ (1) โรงแยกก๊าซธรรมชาติทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ (Utility) ในการให้บริการปรับปรุงคุณภาพและแยกผลิตภัณฑ์ให้กับผู้รับบริการทุกราย โดยกำหนดผลตอบแทนการลงทุนจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับที่เหมาะสม (2) ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Sales Gas) ที่นำมาคำนวณใน Pool Gas ควรมีราคาที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (Gulf Gas) โดยนำมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ C2+ ที่ได้รับจากการจำหน่ายมาเป็นส่วนลดราคา (Discount) ในสัดส่วนที่เหมาะสม (3) กำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน ดังนี้ ก๊าซฯ ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย (Gulf Gas) ก๊าซฯ ที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก๊าซฯ สำหรับภาคไฟฟ้า และ NGV ให้ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซฯ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ ก๊าซฯ จากเมียนมา และ LNG ตามลำดับ และก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG ซึ่งใกล้เคียงราคาที่ซื้อขายจริงในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่นี้ จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง และไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมี  โดยการดำเนินการต่อไป สนพ. จะดำเนินการหารือกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศช. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กลุ่มอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการค้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อสรุปหลักการและจัดทำแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียด เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

หน้าแรก » การเมือง