วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 17:43 น.

กทม-สาธารณสุข

เวทีเสวนาคนเมืองประสานเสียงวอนรัฐบาลเร่งปฏิรูปรถเมล์ไทย

วันอังคาร ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2564, 18.16 น.

เวทีเสวนาคนเมืองประสานเสียงวอนรัฐบาลเร่งปฏิรูปรถเมล์ไทย เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนใช้รถสาธารณะอย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการเปิดเวทีเสวนา (Live สด) “เสียงคนเมืองกับภาพฝันรถเมล์ไทย ณ ห้องประชุม Victory Room โรงแรม Vic3 Bangkok ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์สืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงคมนาคมกำลังจะผลักดันแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติ ภาคีเครือข่ายฯเห็นว่า มีหลายประเด็นในแผนฟื้นฟูฯ เช่น การกำหนดราคาค่าโดยสาร การให้บริการที่มีคุณภาพ การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในตัวรถ รวมถึงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์เป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงได้จัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ โดยได้เชิญ นักวิชาการด้านระบบขนส่ง และรวมถึงฝ่ายนโยบาย  ท่านส.ส.กรุงเทพมหานคร มาร่วมพูดคุยถึงปัญหา สถานการณ์และความปรารถนาของระบบรถเมล์ที่ประชาชนอยากจะพัฒนาไปให้ถึง

คุณนันทิดา จิตภักดีรัตน์ ผู้ดูแลเพจ ToGether / ทูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพฯฝั่งใต้ได้แชร์ประสบการณ์การเดินทางด้วยรถเมล์ว่า ปกติจะใช้รถเมล์เป็นประจำ การมีรถเมล์ชานต่ำทำให้สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกและราคาประหยัด เพราะเดิมคนพิการที่นั่งรถวีลแชร์ต้องนั่งรถแท็กซี่ไปไหนมาไหน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก รู้สึกต้องรบกวนคนต้องมาอุ้มขึ้นและลงรถ และหลายครั้งรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะเป็นผู้หญิง การมีรถเมล์ชานต่ำทำให้คุณภาพชีวิตตนเองดีขึ้น อยากให้มีรถเมล์ชานต่ำให้ครอบคลุมเส้นทาง

คุณสว่าง ศรีสม ผู้ประสานงาน ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้เข้าร่วมฟังเสวนา ได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่า อยากให้มีหน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบดูแลระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบในเขตเมือง และเวลาจะสร้างหรือปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจด้วย  ส่วนเรื่องรถเมล์ ตัวเองเป็นคนพิการนั่งรถวีลแชร์เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี ต้องลงรถเมล์กลางถนนเพราะรถเข้าป้ายไม่ได้ อยากให้มีการเข้มงวดเรื่องการจอดรถอื่นๆที่กีดขวางบริเวณป้ายรถเมล์ เพื่อให้คนพิการสามารถขึ้นและลงรถเมล์ได้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องรถเมล์ไม่สามารถแก้ทีละเรื่อง ทีละประเด็นที่แยกจากกัน เพราะปัญหาแต่ละเรื่องจะเชื่อมโยงกัน อาทิเช่น ปัญหาอัตราค่าโดยสาร ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดเส้นทาง การให้สัมปทานเดินรถ เป็นต้น การแก้ปัญหาต้องแก้เชิงระบบ โดยมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถนำเอาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน และรัฐบาลต้องมองเรื่องรถเมล์ว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่ต้องเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของเฉพาะ ขสมก.ที่มีหนี้สินและต้องทำแผนฟื้นฟูเท่านั้นสถานการณ์ตอนนี้เรามี 2 แผน คือแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่กรมการขนส่งทางบกเป็นเจ้าภาพ เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการเดินรถ และแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่มีเป้าหมายหลักคือการปลดหนี้ ขสมก.ที่มีมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นประเด็นเรื่องเส้นทางเดินรถ ราคาค่าโดยสาร การให้บริการ ฯลฯ ของทั้ง 2 แผนยังมีส่วนที่ขัดๆกันอยู่ และยังไปไม่ถึงฝันของคนเมือง ส่วนตัวเห็นว่าต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถดึงเอา กรมการขนส่งทางบกและ ขสมก.ให้มาจัดการร่วมกันได้

คุณจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครได้แสดงความเห็นว่าตั้งแต่เด็กที่ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนจนปัจจุบันปัญหาของรถเมล์ยังเหมือนเดิม ในประเด็นกี่การปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์มีคณะกรรมการที่เป็นคนกำหนดเส้นทางที่อาจจะไม่ใช่คนใช้รถเมล์ ส่วนคนนั่งรถเมล์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทาง และในประเด็นการปรับเปลี่ยนผู้รับสัมปทานเส้นทางในการเดินรถโดยสารประจำทางว่า หากมีการเปลี่ยนจากรถร้อน เป็นรถแอร์นั้น แม้ว่าคุณภาพรถจะดีขึ้นแต่ราคาก็จะสูงขึ้นด้วย ควรต้องคำนึงถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่จำเป็นต้องใช้รถเมล์ด้วย หรือการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกเส้นทางรถเมล์ก็เช่นเดียวกัน ควรถามประชาชนก่อนด้วย

คุณวรรณา แก้วชาติ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้แสดงความเห็นสนับสนุนเรื่อง การให้มีรถเมล์ร้อนเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะราคาค่าโดยสารจะถูกกว่ารถแอร์ และผู้โดยสารที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเดินทางซื้อของขายของอาจจะมีสินค้าที่อาจมีกลิ่น การขึ้นรถเมล์ร้อนจะเหมาะกว่าการขึ้นรถแอร์

คุณธนรัตน์ ตั้งประจักษ์ภักดี ผู้ดูแลแฟนเพจ ชุมชนคนรักรถเมล์ (Bangkok bus club)ได้แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันรถเมล์มีการพัฒนาขึ้นจากเดิม มีการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ อย่างเช่นมีการใช้ระบบจีพีเอสมาใช้ในการบอกตำแหน่งและสายรถเมล์ที่จะเข้าป้าย แต่สำหรับแผนที่จะมีการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ที่จะมีภาษาอังกฤษผสมกับตัวเลข การปรับปรุงเส้นทางตามแผนฟื้นฟูขสมก.และแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่จะมีรถเมล์บางเส้นทางเดิมอาจจะถูกยกเลิกไป  หรือ หลายเส้นทางที่เดิมไม่มีรถเมล์วิ่ง แผนใหม่ก็ยังไม่มีรถเมล์วิ่ง ประเด็นต่างๆเหล่านี้ประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจน หากประกาศใช้โดยไม่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบตั้งแต่เนิ่นๆ จะสร้างความสับสนและวุ่นวายมาก โดยเห็นด้วยว่าควรจะเปิดข้อมูลในแผนฟื้นฟู ขสมก.และแผนปฏิรูปให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความเห็น ข้อเสนอที่เห็นร่วมกันของเวทีคือ 1.เสนอให้กระทรวงคมนาคมเปิดเผยละเอียดข้อมูลในแผนฟื้นฟู ขสมก. และรวมถึงแผนปฏิรูปรถเมล์ให้แก่ประชาชนได้รับทราบและ 2.เสนอให้กระทรวงคมนาคมเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่อแผนฟื้นฟู ขสมก. รวมถึงแผนปฏิรูปรถเมล์ เพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข