วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 03:00 น.

กทม-สาธารณสุข

นายกฯ ประกาศ "พฤษภาคม" เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ ตั้งเป้ายกระดับการดูแลจิตใจคนไทยทั่วประเทศ

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 15.28 น.

นายกฯ แพทองธาร ประกาศ พ.ค.ของทุกปี เป็น "เดือนแห่งสุขภาพใจ"  สธ.เผยคนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตกว่า 2 ล้านคน สานพลัง สสส.-WHO-ภาคีเครือข่าย เปิด 6 มาตรการ คาดโปรแกรม ต่อ-เติม-ใจ ฮีลใจทุกกลุ่มเสี่ยง เครียด-ซึมเศร้า ตั้งเป้าเข้าถึงประชาชน 1 ล้านคน ใน 3 ปี เพื่อยกระดับการป้องกันสุขภาพจิตระดับประเทศ 

เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2568 เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “เดือนแห่งสุขภาพใจ Mind Month” จัดโดยกรมสุภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) องค์การอนามัยโลก(WHO) และภาคีเครือข่าย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” และร่วมเสวนา “สุขภาพใจ เริ่มต้นได้ที่ครอบครัว” ร่วมกับตัวแทนครอบครัวในสายอาชีพต่างๆ กว่า 20 ครอบครัว โดยนางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลประกาศให้เดือน พฤษภาคมของทุกปี เป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาแห่งความเข้าอกเข้าใจ ใจ  ซึ่งทั้ง 6 มาตรการที่ สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำเสนอในครั้งนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต ตั้งเป้าให้เกิดขึ้นภายในเดือน พ.ค. 37 แห่ง และภายในสิ้นปี 370 แห่ง ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างกลไกให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพใจของตนเอง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา ปัญหาสุขภาพทางใจเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้าม ซึ่งตนให้ความสำคัญ เพราะแม้เรามีร่างกายสมบูรณ์ แต่หากสุขภาพใจไม่แข็งแรงการทำเรื่องต่างๆ ให้สำเร็จก็เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจรับฟังโดยไม่รีบตัดสินหรือให้คำปรึกษา ถือเป็นการเสริมความเข้าใจปัญหาและสร้างความเข็มแข็งทาง โดยเฉพาะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เมื่อเราประสบปัญหาทางใจการเข้าพบแพทย์ รับคำปรึกษาไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก แต่เป็นการที่เราเริ่มรู้ตัวว่าจะดูแลตนเองอย่างไร 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 10 ล้านคน ต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ภาวะเครียดสะสมรุนแรง และจิตเภท กว่า 2 ล้านคน เข้ารับการรักษาในระบบบริการสาธารณสุข ดังนั้น สธ. จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อน 6 มาตรการสำคัญในปีนี้ ได้แก่  1. ส่งเสริมพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ด้วยโปรแกรมกิจกรรมกลุ่มเชื่อมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก 2. พัฒนาระบบ HERO แพลตฟอร์มสุขภาพจิตในโรงเรียนให้ครูสามารถประเมินสุขภาพเด็กในเบื้องต้นได้ 3. ส่งเสริมการดำเนินการด้วยระบบ Holistic Health Advisor หลักสูตรดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน 4. จัดตั้งศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต รองรับการดูแลผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตทั้งแบบ On-Site และ Online 5. พัฒนาระบบต่อเติมใจ แพลตฟอร์มฝึกจิตบำบัดด้วยตนเอง และ 6. เปิดให้บริการแพลตฟอร์มสุขภาพจิตดอทคอม เป็นช่องทางหลักช่วยให้ประชาชนมีความรอบรู้สุขภาพจิตยิ่งขึ้น 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า วัยทำงานอายุ 30–39 ปี มีความเสี่ยงเครียดและซึมเศร้ามากกว่า 20% ส่วนผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไป มีความเสี่ยงเครียดและเสี่ยงซึมเศร้ามากกว่า 500,000 คน ซึ่งไม่เพียงกระทบคุณภาพชีวิต แต่ยังสร้างภาระทางสังคมและครอบครัว สสส. จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดตัวโครงการในเดือนแห่งสุขภาพใจ สร้างนวัตกรรมสุขภาพจิตเชิงป้องกันภายใต้ชื่อต่อ-เติม-ใจ ซึ่งเป็นโปรแกรมฝึกจิตบำบัดด้วยตนเองภายใน 5 สัปดาห์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยการทำแบบประเมินควบคู่กับการดูแลโดยผู้ช่วยออนไลน์ หรือ e-Helper และเปิดโอกาสให้ครอบครัวมีบทบาทในการแนะนำและติดตามผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเครียดสูงเข้าใช้โปรแกรมเพื่อลดภาวะเครียดและซึมเศร้าเบื้องต้นก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และส่งต่อผู้ที่มีภาวะรุนแรงสู่หน่วยบริการได้รวดเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงระบบภายในปี 2568 อย่างน้อย 200,000 คน และขยายสู่ 1 ล้านคน ภายใน 3 ปี เพื่อยกระดับการป้องกันสุขภาพจิตระดับประเทศ หากสนใจทดลองใช้งานโปรแกรมสามารถเข้าไปได้ที่ www.ต่อเติมใจ.com

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข