วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 23:37 น.

เศรษฐกิจ

เคหะรื้อโครงการร่วมทุนเอกชน

วันพฤหัสบดี ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 16.58 น.

เคหะรื้อโครงการร่วมทุนเอกชน

 
โครงการร่วมทุนเอกชน PPP ของการเคหะแห่งชาติ ถูกรื้อศึกษาใหม่ หลัง พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้มีนาคม 2562 ในขณะแผนการลงทุนเดิมเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. ประกาศ
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล  ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวถึงทิศทางการลงทุนร่วมกับเอกชน (Public Private Partnership - PPP) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 10 มาตรการขับเคลื่อนการเคหะแห่งชาติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ กคช. คิดวางแผนโครงการล่วงหน้า ก่อนมี พ.ร.บ.ร่วมทุนภาคเอกชนฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2562
“การเคหะแห่งชาติวางแผนตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นยังเป็น พรบ.ฉบับเก่า แต่ตอนนี้เป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ 2562 เราจึงต้องทบทวนขบวนการขั้นตอนบางส่วนให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
เดิมที ตาม พ.ร.บ.ฉบับเก่าแยกย่อยวงเงินลงทุนโครงการหลายระดับ แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดวงเงินลงทุนที่ 5,000 ล้านบาทเป็นเส้นแบ่งเดียว  ถ้าเกิน 5,000 ล้านบาทจึงจะเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชน แต่ถ้าต่ำกว่าการเคหะแห่งชาติสามารถดำเนินการเองได้ ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการชุดใหม่ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารเตรียมทำเอกสารขอแนวทางอย่างละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักในการกำกับตามมาตรการเร่งด่วน 30/60/90 วัน NHA Big Bang เพื่อให้มีความชัดเจน ถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน “คาดว่าฝ่ายบริหารการเคหะจะให้คำตอบได้ภายในการประชุมคณะกรรมการ 6 พฤศจิกายน 2562 นี้” นายณัฐพงศ์กล่าว
ประธานคณะกรรมการ กคช. ยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนในรูปแบบใด กคช. ก็จะทำให้เกิดมูลค่า ผลตอบแทนสูงสุด โดยจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของแต่ละโครงการ
อย่างละเอียดรอบคอบ
“ผมจะรักษาประโยชน์สูงสุดของการเคหะแห่งชาติในทุกรูปแบบการร่วมทุน และการมีนโยบาย PPP นี้ ไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม หรืออำนาจอยู่ที่ใคร กคช. ทำได้ที่ระดับวงเงินเท่าใด ต้องชัดเจนก่อนตามกฎหมาย ซึ่งจะทราบอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติเร็วๆ นี้ และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี เราต้องเร่งทำ” นายณัฐพงศ์กล่าว
โครงการร่วมทุนเอกชนที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง  โครงการหนองหอย เชียงใหม่ และโครงการ TOD ร่มเกล้า เป็นต้น