วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:11 น.

การศึกษา

ชงราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์ 'Mindset'หมวดธรรม

วันจันทร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562, 10.23 น.

ชงราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์
'Mindset'หมวดธรรม

 

ศ. (พิเศษ)ร.ท. ดร.บรรจบ ชงราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์ 'Mindset'หมวดธรรมประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่


วันที่ ๑๘ ก.พ.๒๕๖๒  ศ. (พิเศษ)ร.ท. ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ  ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาศาสนศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้เสนอการนิยามความหมายของคำว่า "Mindset – หมวดธรรม : ชุดความคิดในพระไตรปิฎกที่ยังใช้ได้กับสังคมสมัยใหม่" ต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก  สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันพุธที่ ๖  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ความว่า 
 
ความนำ

ทุกวันนี้ คำว่า Mindset หรือ ชุดความคิด กำลังเป็นที่สนใจในวงการศึกษาไทย และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง  แต่เมื่อดูบทสรุปแล้วก็ยังไม่อาจบอกได้ว่ามีคำอธิบายที่ชัดเจนออกมา  ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่สนใจคำนี้  จึงพยายามศึกษาหาความหมายของคำนี้จากคำภาษาอังกฤษ และนำไปเทียบเคียงกับคำภาษาบาลี  เพราะเหตุผลที่ว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาตระกูลอินโดยุโรเปียน (Indo-European Family)   ด้วยกัน

ความหมาย
ตามคำนิยามของภาษาอังกฤษที่มีกล่าวไว้
1. A fixed state of mind, it does not allow for new situations.(Merriam Webster) สภาพจิตที่ตั้งไว้มั่นแล้ว  จนไม่เปิดทางให้สถานการณ์ใหม่ ๆ มาแทรกหรือลบล้างได้
2. A way of thinking. Before he can succeed, he will have to shed the mentality that he can get by without hard work.วิถีแห่งความคิด (ของคน) ก่อนที่เขาจะประสบสำเร็จ เขาจะต้องปล่อยให้สภาวะทางจิตไหลออกมาซึ่งเขาสามารถได้รับโดยไม่ต้องทำงานหนัก 
ความหมายที่กล่าวไว้ในพจนานุกรม (Dictionary) ๒ ฉบับข้างบนสามารถทำให้แปลความหมายของคำ Mindset  ได้อีกว่า “ความคิดที่ตั้งไว้” และสามารถอธิบายเชื่อมกับความหมายแรก คือ “ชุดความคิด” ได้ว่า  
“ความคิดนั้นหลั่งไหลออกมาเป็นสายจนสามารถกำหนดตั้งเป็นเป็นชุดความคิดได้”
การที่แปลว่า ชุดความคิด ก็น่าจะมาจากการแยกคำเป็นMind = ความคิด+ Set= ชุด ซึ่งเข้าใจได้ทั่วไป แต่ที่ผู้เขียนให้ความหมายของ Mindsetเพิ่มเติมว่า “ความคิดที่ตั้งไว้”  ก็มาจากศึกษาว่า Set ยังใช้เป็นกริยา (Verb) ได้แปลว่า To Fix = ตั้ง  และเมื่อนำคำนาม (Noun) กับกริยา (Verb)มาเข้าสมาสกันโดยวางคำนามไว้หน้าคำกริยาไว้หลังเป็น Mindsetแปลว่า “ความคิดที่ตั้งไว้”  และได้บทสรุปอย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างบน
การได้ความหมายเพิ่มว่า “ความคิดที่ตั้งไว้”  ทำให้ผู้เขียนนำไปศึกษาเทียบกับคำบาลีได้  ซึ่งมีคำที่ใกล้เคียงกับคำนี้ คือ คำ “เจโตปณิธิ” (เจโต = ใจ) + ปณิธิ =การตั้ง,การวาง) กับ “มโนปณิธาน” (มโน=ใจ + ปณิธาน=การตั้ง,การวาง)  ซึ่งแปลอย่างเดียวกันว่า “การตั้งใจ” คำทั้ง ๒ นี้มักพบว่าใช้กับพระโพธิสัตว์ที่มีการตั้งใจปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า  และเมื่อศึกษาไปจะพบชุดความคิดของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้น่าสนใจ   แต่ในบทความนี้จะยังไม่ไปถึงเรื่องชุดความคิดนั้น  จะกล่าวไปที่ชุดความคิดที่เป็นหมวดธรรม
ชุดความคิดในพระไตรปิฎก-ตัวอย่าง
หมวดธรรม คือ ชุดธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนโดยระบุจำนวนไว้ด้วย  เช่น  ทุกะ (ชุดธรรมะ ๒ ประการ) ติกะ (ชุดธรรมะ ๓ ประการ) จตุกกะ (ชุดธรรมะ ๔ ประการ) 
หมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงจัดไว้เป็นชุดนี้  ผู้เขียนเสนอว่า นี่คือ “ชุดความคิด” ทั้งนี้เพื่อให้ศึกษาควบคู่ไปกับคำ Mindset  ตามที่นักวิชาการตะวันตกเสนอ  ซึ่งวงวิชาการไทยกำลังตื่นตัวตื่นเต้นและตีความกันตามที่ฝรั่งเสนออย่างที่กล่าวไว้แล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ ธรรม กับ วินัย วินัยจัดเป็นหมวดโดยอาศัยพฤติกรรมการทำผิดและการปรับโทษเป็นหลักในการบัญญัติ เช่น หมวดว่าด้วยการขาดความเป็นพระเรียกว่า“ปาราชิก ๔”  หมวดว่าความผิดที่ไม่ถึงขั้นขาดจากความเป็นพระแต่จะพ้นโทษได้ด้วยการที่ต้องอยู่ปริวาส (อยู่แบบถูกกักบริเวณเพื่อประจานความผิดของตนเอง) เรียกว่า “สังฆาทิเสส ๑๓”
ส่วน “ธรรม”คือ คำสอนที่ทรงแสดงโปรดสาวกในโอกาสต่าง ๆที่เป็นธรรมบรรยายทั่วไปไม่มีชุดหลักธรรมก็มี ที่มีหัวข้อธรรมเป็นชุด ๆ ก็มี ประกอบด้วยธรรมชุดละ ๒ ข้อบ้าง ๓ ข้อบ้าง ๔ ข้อบ้าง ๕ ข้อบ้าง ดังนี้
๑.ชุดธรรมะ ๒ ข้อ (ทุกะ) เช่น ชุดธรรมะมีอุปการะมาก ๒  คือ สติ (ระลึกได้, รู้ทันปัจจุบัน) กับ สัมปชัญญะ (รู้ตัวทั่วพร้อม)  ชุดธรรมะคุ้มครองโลก ๒  คือ หิริ (ความละอายตัวเองในการจะทำชั่ว) กับ โอตตัปปะ (ความกลัวผลของความชั่ว)  (อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ๒๐/๒๕๕/๖๕- ๔๒๔/๑๑๙; ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๓๗๘/๒๙๐) 
๒.ชุดธรรมะ ๓ ข้อ (ติกะ) เช่น ชุดรากเหง้าของอกุศล (ความชั่ว) ๓  คือ โลภะ (ความอยากได้)โทส (ความโกรธ) โมหะ (ความหลง)  ชุดรากเหง้าของกุศล (ความดี) ๓ คือ อโลภะ (ความไม่อยากได้)อโทสะ (ความไม่โกรธ) อโมหะ (ความไม่หลง) (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๓๙๓/๒๙๑) 
๓.ชุดธรรมะ ๔ ข้อ (จตุกกะ) เช่น อิทธิบาท –ชุดทางสู่ความสำเร็จ ๔ คือ ฉันทะ (ความสนใจทำงาน) วิริยะ (ความกล้าลงมือทำงาน) จิตตะ (ความมีจิตแน่วแน่) วีมังสา (การใช้ปัญญาใคร่ครวญหาวิธีทำงาน)   (ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓) สังคหวัตถุ – ชุดประสานหรือยึดเหนี่ยวใจให้คนรวมอยู่เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ๔  คือทาน (การให้)  ปิยวาจา (การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ทำให้คนรักกัน)(อัตถจริยา (การทำประโยชน์ให้)  สมานัตตตา (การทำตนเสมอต้นเสมอปลายในธรรม ๓ ข้อข้างต้น)  (อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ๒๑/๓๒/๔๒)
๔.ชุดธรรมะ ๕ ข้อ (ปัญจกะ) เช่น นิวรณ์ –ชุดขัดขวางจิตไม่ให้เป็นสมาธิ ๕  คือ กามฉันทะ (ความติดใจในสิ่งที่ทำให้ใจผูกพัน) พยาบาท (ความอาฆาตแค้น) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ท้อแท้)อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและหงุดหงิดใจ) วิจิกิจฉา (ความสงสัย ความขาดความเชื่อมั่นในการทำความดี)  (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ๒๒/๕๑/๗๒) 
แนวทางการบูรณาการหมวดธรรมหรือชุดความคิด
การเสนอชุดความคิดอย่างนี้เพื่อเป็นตัวอย่าง  เป็นการเสนอเพื่อแสดงวิธีการบูรณาการชุดความคิดให้นำไปใช้ประโยชน์ได้  โดยขอแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๒ ชุด  คือ 
ชุดที่ ๑ ชุดความคิดเพื่อสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ  กับ ชุดที่ ๒ ชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข   ใน ๒ ชุดใหญ่  แต่ละชุดจะเสนอชุดความคิดย่อยประกอบ  ๒ ชุด คือ ชุดกระตุ้นความคิด กับ ชุดที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งทำงานสัมพันธ์กัน ดังจะกล่าวต่อไป
ชุดที่ ๑ หมวดธรรมหรือชุดความคิดเพื่อความสำเร็จในการได้สิ่งที่ต้องการ ประกอบด้วยชุดความคิด ๒ ชุดย่อย คือ
๑.๑  ชุดกระตุ้นความคิด  ได้แก่ อิทธิบาท ๔ (ที.ปา.๑๑/๒๓๑/๒๓๓) ชุดกระตุ้นความคิดสู่ความสำเร็จ, ชุดความคิดเพื่อความสำเร็จ
อะไรคือความสำเร็จที่ต้องการ?  นี่คือ สิ่งที่ผู้ที่จะนำหลักธรรมชุดนี้ไปบูรณาการต้องถามตัวเองและตอบให้ได้ก่อน
แต่ก่อนอื่นขอทบทวน อิทธิบาท หรือ ชุดความคิดอันเป็นทางสู่ความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย
๑.๑.๑ ฉันทะ      ความต้องการทำให้สำเร็จ 
๑.๑.๒ วีริยะ       ความกล้า – ความกล้าที่ไปหนุนความต้องการทำให้เดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง
๑.๑.๓ จิตตะ      ความมีจิตจดจ่อมั่นคงไปทำหน้าที่หนุนความกล้าให้ทำหน้าที่ต่อไป
๑.๑.๔ วีมังสาความมีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญหาอุบายหรือวิธีทำให้ประสบผลสำเร็จ
ลักษณะของชุดความคิด ๔ ประการนี้  คือ ไม่ใช่ตัวแสดงออกภายนอก  แต่ปรุงแต่งจิตให้คิดอยากทำเป็นเบื้องต้นด้วยอำนาจฉันทะ  แล้ววีริยะ จิตตะ วีมังสา ก็ตามมาหนุนฉันทะกันตามลำดับ คือวีริยะ หนุนฉันทะให้กล้า จิตตะหนุนวีริยะให้แน่วแน่ แล้ววีมังสาก็ช่วยหาวิธีทำให้สำเร็จ
ความสำเร็จที่ต้องการในที่นี้ คือ  ความสำเร็จแห่งความต้องการพื้นฐาน คือ ลาภ ยศ ชื่อเสียง และความสุขที่เกิดจากลาภ ยศ ชื่อเสียง
สมมติว่า ต้องการได้ลาภ – รวย  
๑.๒วิธีการบูรณาการ 
ผู้ต้องการต้องตั้งเป้าประสงค์ ความต้องการ ลาภ – รวย/ มีทรัพย์ไว้ให้ชัดเจน  การตั้งเป้าไว้ชัดเจน นั้น คือ Mindset แล้วจากนั้นชุดความคิดก็จะหลั่งไหลออกมาเป็นสายตามกระบวนการของอิทธิบาท หรือ ชุดแนวคิดอันเป็นทางสู่ความสำเร็จซึ่งกำลังตื่นตัว
เบื้องต้น อิทธิบาทตัวแรกคือ วีมังสาจะทำหน้าที่คิดใคร่ครวญหาวิธีเข้าถึงการมีทรัพย์อย่างถูกทางว่า ต้องมี “งาน” ก่อน ในการคิดถึงงาน  วีมังสาสามารถบูรณาการให้ไปเชื่อมโยงกับชุดความคิดอื่น ๆ ที่มีคำสอนสัมพันธ์กับการจะมีงานให้ทำ เช่น ชุดความคิดในมงคลสูตร ซึ่งเป็นชุดความคิดที่ผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้าด้วยการที่คิดได้ว่า 
๑) ต้องอยู่ในที่ที่เหมาะสม – ปฏิรูปะเทสะวาสะ ๒) ตั้งตนไว้ถูกต้อง (อัตตะสัมมาปะณิธิ) ๓) หลีกเลี่ยงการคบคนที่ชักนำให้เสื่อมเสีย  (อะเสวะนา จะ พาลานัง) ๔)  ๔) คบคนที่ดีสามารถชักนำให้ชีวิตก้าวหน้าอย่างสุจริต  (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา)  และ ๕) ในใจต้องมี “คนดีต้นแบบ” ไว้สำหรับยกย่องและดำเนินรอยตาม  (ปูชา จะ ปูชะนียานัง)   (มงคลสูตร ในขุททกปาฐะ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕)  ซึ่งหมายความว่าการคิดใคร่ครวญของวีมังสาจะทำให้เป็นภาพว่า 
“....เมื่อมีงานและอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม หรืออยู่ในถิ่นที่เหมาะสมและได้งานที่เหมาะกับความสามารถแล้ว ยัง ต้องตั้งตนไว้ถูกทางที่สอดคล้องกับการสำเร็จเลือกสรรในการพัฒนาชีวิตโดยหลีกเลี่ยงการสมาคมกับคนที่ชักนำให้เสื่อมเสีย แต่สมาคมกับคนดีและมีคนดีอยู่ในใจเป็นแรงจูงใจ”
๑.๒ ชุดแสดงพฤติกรรมเมื่อได้งาน วีมังสา-ปัญญาใคร่ครวญ ยังต้องเข้ามาเกี่ยวข้องบริหารจัดการความคิดให้คิดหาวิธีทำให้เหมาะสมที่จะได้ทรัพย์อย่างที่ตั้งความหวังไว้แล้วจูงใจให้แสดงพฤติกรรมออกเพื่อให้ได้ผล คือได้ทรัพย์ตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้แบบทันตาเห็น ๔  (ทิฏฐธัมมิกัตถะ – ประโยชน์ทันเห็นในชีวิตนี้ : อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ๒๓/๑๔๔/๒๘๙)  การแสดงพฤติกรรมเพื่อการได้ทรัพย์ประกอบด้วย
๑.๒.๑ รู้จักขยัน(อุฏฐานสัมปทา)ตื่นตัวทำงาน,  ไม่เกียจคร้าน รู้จักให้เกิดความชอบความพอใจในการทำงานให้เกิดรายได้ กล้าลงมือทำไม่เกียจคร้าน ทำแบบแน่วแน่ไม่จับจด ตามวิธีการที่เหมาะสม
๑.๒.๒ รู้จักเก็บรักษา (อารักขสัมปทา)พร้อมเก็บพร้อมรักษารายได้ และจัดสรรรายได้ออกเป็นสัดส่วน เช่น ใช้เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงตัวเอง และแบ่งเก็บสะสมไว้ตามหลักการจัดสรรรายได้เป็น  ๔ ส่วน  คือ ส่วน ๑ เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัว ใช้ทำประโยชน์ส่วนตน  ๒ ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน อีกส่วนหนึ่ง เก็บไว้เป็นทรัพย์ต้นทุน หรือ ใช้ในคราวจำเป็น (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๑๙๗/๒๐๒) ในการรู้จักเก็บรักษานี้ ก็ยังต้องให้เกิดความชอบความพอใจในการเก็บรักษา ปลุกความคิดไม่ให้เฉื่อยชามีความกล้าแน่วแน่ที่จะเก็บไว้ได้ตามเป้าหมาย 
๑.๒.๓ รู้จักคบเพื่อนดี (กัลยาณมิตตตา)   คบเพื่อนดี เพื่อนที่นำไปสู่ความรวยได้ตามหวัง ในการรู้จักคบเพื่อนก็เช่นกัน ขาดความพอใจในการคบเพื่อนดีไม่ได้ ต้องให้ความพอใจเกิดต่อเนื่องแน่วแน่มั่นคงเพราะเห็นคุณค่า ในขณะเดียวกันก็เห็นโทษของการคบเพื่อนไม่ดี
๑.๒.๔ รู้จักใช้ชีวิตแบบเหมาะสม  (สมชีวิตา)         ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงชอบธรรมไม่ให้กระทบรายได้ แต่ให้เพิ่มพูนรายได้แม้ในข้อรู้จักใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็ต้องให้ความพอใจในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมดำเนิไปอย่างต่อเนื่องและแน่วแน่เช่นกัน (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑ /๑๗๘-
๑๘๔/๑๙๖-๑๙๘)
ผลสำเร็จ 
เมื่อพฤติกรรมการจะทำให้ได้ผลทันตาเห็นดำเนินไปถึงเป้าหมายภายใต้การกระตุ้นของอิทธิบาท ก็เกิดผลสำเร็จ คือ มีรายได้  นอกจากเหลือเก็บ ยังสะสม เพิ่มพูน จนเป็นความรวยที่ชอบธรรมแบบยั่งยืนตามความเหมาะสมแก่ฐานะซึ่งขอเสนอด้วยตาราง
ตารางตัวอย่างสรุป ๑ ดูบทบาทชุดแนวคิดของอิทธิบาทจากความหมายและตัวชี้วัดระดับสภาพจิตว่าทำหน้าที่กระตุ้นจิตอย่างไร ?
หลักธรรม ความหมาย    ตัวชี้วัด
 ฉันทะ ความต้องการทำงาน -ใฝ่ใจรักที่จะทำให้สำเร็จ
-รักจะทำให้ดียิ่งๆขึ้น
 วีริยะ สภาพจิตที่กล้า -ไม่ท้อแท้ 
-ไม่เกียจคร้าน 
-เข้มแข็ง อดทน
จิตตะ ความแน่วแน่ -มีใจจดจ่องานที่จะทำ
-มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
วีมังสา ความไตร่ตรอง คิดทบทวน -คิดหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ
-ตรวจตราหาเหตุผล
-คิดวางแผน ประเมินผล แก้ไข ปรับปรุง
ตารางตัวอย่างสรุป ๒ ดูบทบาทชุดพฤติกรรมเพื่อการมีทรัพย์ตามที่ถูกกำกับด้วยชุดแนวคิดของอิทธิบาท ๔
ตาราง ๑
อิทธิบาท ๔ พฤติกรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้ขยัน ไม่เกี่ยจคร้าน -กระตือรือร้น 
-ลงมือทำทันทีเมื่อพร้อม
-สอดส่องตรวจตรา
-หาวิธีทำงานที่เหมาะเพื่อให้เกิดรายได้โดยชอบธรรม

ตาราง ๒
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ๔ ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้รักษา รู้จักเก็บรักษารายได้
จากงานที่ตนทำ -แบ่งสันปันส่วนในการใช้อย่างเหมาะสม
ตาราง ๓
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้จักคบเพื่อนดี รู้จักคบเพื่อนที่ทำให้งานก้าวหน้า, เพื่อนทำให้รายได้เพิ่มพูน -คบเพื่อนที่มีแนวคิดในทางดีส่งเสริมกัน
-คบเพื่อนที่มีพฤติกรรมทางเจริญส่งเสริมกัน
ตาราง ๔
อิทธิบาท ๔ พฤติกรรมให้ได้ผลทันตาเห็น ความหมาย ตัวชี้วัด
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วีมังสา รู้จักใช้ชีวิตแบบเหมาะสม รู้จักดำเนินชีวิตไปพอเหมาะกับรายได้
ที่จัดสันปันส่วนแล้ว -ไม่ใช้จ่ายเกินตัว
-ไม่กระเหม็ดกระแหม่จนทำให้ตัวเองลำบาก
-ไม่หมกหมุ่นกับอบายมุข(ทางแห่งความเสื่อม)ต่างๆ
หมายเหตุ  ตามตาราง ชุดแนวคิดอิทธิบาท ๔ จะตามกำกับชุดพฤติกรรมทุกข้อซึ่งวีมังสาหรือปัญญาใคร่ครวญจะมีบทบาทสำคัญที่กระตุ้นอิทธิบาทข้ออื่น ๆ ให้ทำหน้าที่อย่างมีเหตุมีผล ขณะเดียวกันอิทธิบาทเหล่านั้นก็ต้องมาประคับประคองวีมังสาให้ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งถึงเป้าหมายด้วยเช่นกัน
ชุดที่ ๒  หมวดธรรมหรือชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข
๒.๑  ชุดกระตุ้นความคิด ในที่นี้ คือ พรหมวิหาร ๔ หรือชุดความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข๔ ประการ (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ๒๒/๑๙๒/๒๕๒; วิสุทธิมรรค ภาค ๒)  
เช่นเดียวกัน  ผู้จะบูรณาการเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข  จะต้องถามตัวเองให้ชัดวา คืออยู่อย่างไร ? และต้องให้ได้คำตอบที่ชัดเจน
ก่อนอื่น ขอทบทวนพรหมวิหาร 
เมตตาความรัก ความปรารถนาดี ให้ผู้ที่อยู่ร่วมซึ่งมีความสุขอยู่แล้วให้มีความสุขต่อไป
กรุณา  ความสงสาร ความปรารถนาให้ผู้ที่อยู่ร่วมซึ่งมีความทุกข์ให้พ้นจากทุกข์
มุทิตาความยินดีด้วยในความสุขหรือในความพ้นทุกข์ของผู้ที่อยู่ร่วม
อุเบกขา ปัญญารู้วางใจเป็นกลาง โดยรู้จักวางเมตตาไว้ในความพอเหมาะ รู้จักวางกรุณาไว้ในความพอเหมาะ รู้จักวางมุทิตาไว้ในความพอเหมาะโดยเชื่อว่าแต่ละคนที่อยู่ร่วมกันล้วนมีกรรมเป็นของตัวเอง 
ลักษณะของความคิดชุดนี้  เป็นตัวกระตุ้นจิต  ให้เกิดพฤติกรรมแสดงออกทางกายและทางวาจา (การกระทำและการพูด) เหมือนอิทธิบาท ๔
๒.๒ชุดแสดงพฤติกรรมออกของพรหมวิหาร ๔ให้อยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุข ไม่ว่าจะเป็นระหว่างบุคคล กลุ่มคนหรือชุมชน ตามแนวสังคหวัตถุ ๔  (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑๑/๑๔๐/๑๖๗)ได้แก่ 
๒.๒.๑ ทาน  – การให้ ให้ความคุ้นเคย ความร่วมมือ การช่วยเหลือทั้งส่วนตนกลุ่มคนและชุมชนแบบมีเมตตา (รักปรารถนาดียามปกติ) /กรุณา (สงสารคิดช่วยเหลือยามมีปัญหา ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม,  วางตนให้เป็นที่เคารพนับถือและให้เกิดวางใจไม่หวาดระแวง
๒.๒.๒ ปิยวาจา  –พูดคำเป็นที่รักพูดคำที่เป็นประโยชน์อย่างถูกกาลเทศะแสดงถึงการมีวีมังสา-ปัญญาใคร่ครวญ พูดคำแนะนำที่เกิดประโยชน์มีความน่าเชื่อถือระหว่างบุคคลระหว่างกลุ่มและระหว่างชุมชน พูดคำที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคี แสดงถึงการมีเมตตากรุณา  
๒.๒.๓ อัตถจริยา  – ทำประโยชน์ในงานที่ต้องทำร่วมกันให้ก้าวหน้าและบรรลุวัตถุประสงค์ของงานเพื่อส่วนรวม โดยชอบธรรม 
๒.๒.๔ สมานัตตตา –วางตนเสมอต้นเสมอปลายในคุณธรรม ๓ ข้อต้น ทั้งการให้การพูดและการทำประโยชน์
๒.๓. วิธีการบูรณาการ
ผู้ที่ต้องการจะบูรณาการต้องตั้งความคิดที่จะอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขไว้ในใจให้ชัดเจนโดยเห็นภาพของการอยู่เป็นปึกแผ่นที่มาจากพื้นฐานคือความคิดการแสดงออกทางกายและการแสดงออกทางวาจาที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นพื้นฐาน
ผลสำเร็จ เมื่อพฤติกรรมที่จะอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขดำเนินไปด้วยอิทธิพลของพรหมวิหาร ๔ ดังจะได้แสดงด้วยตารางสรุป
ตารางตัวอย่างสรุป ๑ ดูบทบาทของพรหมวิหารจากความหมายและตัวชี้วัดบอกถึงการทำหน้าที่กระตุ้นจิตอย่างไร ?
หลักธรรม    ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา ความรัก -ปรารถนาดี
-ปรารถนาให้คนที่ตนเมตตามีความสุข
-ปรารถนาให้เขาประสบความสำเร็จ
กรุณา ความสงสาร -ปรารถนาให้คนที่ตนสงสารพ้นทุกข์
-ใฝ่ใจที่จะบำบัดความเดือดร้อนของเขา
มุทิตา ความยินดีด้วย -ยินดีด้วยกับคนที่ตนเมตตามีความสุข-สำเร็จยิ่งๆขึ้น
-ยินดีด้วยกับคนที่ตนกรุณาพ้นทุกข์ได้
อุเบกขา วางใจเป็นกลางโดยยึดว่าแต่ละชีวิตมีกรรมเป็นของตน -ไม่เมตตาจนตัวเองทุกข์
-ไม่กรุณาจนตัวเองทุกข์
-ไม่ยินดีด้วยจนให้ความสำคัญตัวเองว่าเขาดี/พ้นทุกข์ได้เพราะเรา
-วางเฉยได้เมื่อตนหมดภารกิจที่ต้องทำ
ตารางตัวอย่างสรุป ๒ ดูบทบาทชุดพฤติกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขตามแนวสังคหวัตถุ ๔ ที่มีชุดแนวคิดของพรหมวิหาร ๔กำกับ
ตาราง ๑
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การให้ แบ่งปัน เสียสละ ไม่หวงแหน
-ให้การพูดคุยและท่าทีแสดงความรักปรารถนาดีผู้อื่นเมื่อยามเขามีสุขเป็นปกติ
-ให้การพูดคุยและท่าทีแสดงความสงสารเมื่อผู้อื่นเผชิญความทุกข์
-ให้ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี
-การวางใจเป็นกลางในเหตุการณ์ทุกอย่างไม่ดีใจเกินไปเมื่อเขาได้ดี และไม่ทุกข์ใจเกินไปเมื่อช่วยเขาให้พ้นทุกข์ไม่ได้หรือได้ไม่เต็มที่
-ให้ความไม่น่ากลัว
ตาราง ๒
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การพูดคำเป็นที่รัก พูดคำที่ทำให้สามัคคี -พูดคำจริงมีหลักฐานน่าเชื่อถือ
-พูดคำจริงที่มีประโยชน์ 
-พูดถูกกาลเทศะ
-พูดประสานประโยชน์
ตาราง ๓ 
พรหมวิหาร ๔ พฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความหมาย ตัวชี้วัด
เมตตา กรุณา มุทิตา 
อุเบกขา การทำประโยชน์ การทำงานส่วนรวมให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม -การร่วมมือกันแก้ปัญหาในงาน
-การร่วมมือกันส่งเสริมการทำดีในงานที่มีอยู่แล้วให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนเกิดประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชอบธรรม
-การยกความสำเร็จให้เป็นผลงานร่วมกัน
ตาราง ๔
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย การแสดงพฤติกรรมตามที่ประพฤติมานั้นสม่ำเสมอต่อเนื่อง -ให้สม่ำเสมอ
-พูดคำน่ารักสม่ำเสมอ
-ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมสม่ำเสมอ
ผลสำเร็จ
จะเห็นว่า ในชุดความคิดที่ ๒ นี้  สังคหวัตถุ ๔ แต่ละข้อจะต้องมีพรหมวิหาร ๔ มากำกับไปในลักษณะแสดงพฤติกรรม  หากเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นอย่างสันติสุขได้

สรุป
หมวดธรรมหรือชุดความคิดที่เสนอมานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่อาจสรุปในเบื้องต้นนี้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าที่จัดเป็นหมวดหมู่ หรือ ชุดนั้น จะมีจำนวนกำกับด้วยเสมอ เช่น อิทธิบาท ๔ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔  ซึ่งการมีจำนวนกำกับนี้มีนัยสำคัญ คือ ธรรมะในชุดความคิดนั้นต้องเกิดและดำเนินไปในเชิงบูรณาการอย่างสัมพันธ์กันและครบถ้วนจึงจะเกิดผลในทางปฏิบัติ  หากในแต่ละชุดขาดข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็อาจไม่เกิดผลหรือเกิดผลที่ไม่ครบถ้วน 

 




 

หน้าแรก » การศึกษา