วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 16:25 น.

การศึกษา

มทส. ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ ประชุมวิชาการนานาชาติ

วันพุธ ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 17.01 น.

มทส. ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ ประชุมวิชาการนานาชาติ

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ สมาคมวิจัยวัสดุ จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2: The Second Materials Research Society of Thailand International Conference” ระหว่างวันที่ 10 - 12 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะซายน์ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์ ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 15 ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ร่วมประชุมและนำเสนอผลงานทางวิชาการ หวังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

 

ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มทส. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจากสมาคมวิจัยวัสดุ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2” ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และ IEEE Magnetics Society ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวัสดุศาสตร์และการบูรณาการศาสตร์นี้กับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องด้วยความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบสูงมากในปัจจุบัน การประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีทางด้านวัสดุศาสตร์ เกิดความร่วมมือทางวิชาการที่จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ นำไปสู่การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การพัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบโจทก์และแก้ปัญหาของประเทศ สร้างประโยชน์สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ตามนโยบายการบริหารงานของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

 

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาความเป็นสากล มทส. ในฐานะนายกสมาคมวิจัยวัสดุ เผยว่า “สมาคมวิจัยวัสดุ หรือ Materials Research Association ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคคลที่ทำงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมวัสดุ รวมไปถึงวิศวกรรมวัสดุ โดยเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางวิชาการ การจัดอบรมและเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนให้การยกย่องและเชิดชูนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร นวัตกร ที่ทำงานวิจัยในด้านนี้ ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ สมาคมได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของ International Union of Materials Research Societies (IUMS) ในปี 2560 และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 1” ขึ้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่

 

สำหรับการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ครั้งที่ 2” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 15 ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประมาณ 800 คน ประกอบด้วย วิทยากรบรรยายรับเชิญ 120 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย และ ออสเตรเลีย ผู้นำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ 400 คน ผู้เข้าร่วมประชุม 100 คน และบุคลากรจากหน่วยงานร่วมจัดการประชุม 220 คน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

 

การประชุมครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สาขาเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และจำเป็นอย่างยิ่งในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 สำหรับ 5 อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศต่อไป”

 
 

หน้าแรก » การศึกษา