วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 14:23 น.

การศึกษา

“เที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา” อินทัช บูรณาการช่วยชุมชนเข้มแข็ง

วันจันทร์ ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 09.37 น.

“เที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา” อินทัช บูรณาการช่วยชุมชนเข้มแข็ง

 

 

 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  ต่อยอดพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจาในโครงการข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช ภายใต้แนวคิด “เที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา” นำเสนอผ่านเอกลักษณ์ของท้องถิ่นทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยว โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนนำศักยภาพมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนาธุรกิจชุมชนช่วยให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

 นายเอนก  พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “อินทัช ดำเนินโครงการข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช มาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีให้กับชาวนาและชุมชน ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการดำเนินโครงการฯ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน สำหรับชุมชนรอบวัดทิพย์สุคนธาราม ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2559 สามารถรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจาที่มีความเข้มแข็งได้อย่างรวดเร็ว สามารถผลิตข้าวที่ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และอยู่ระหว่างการคัดสรรดาว OTOP จากข้าวกิโลละ 20 บาท เพิ่มมูลค่าเป็น 60 บาทในแบรนด์ “หอมกระเจา” รวมถึงได้ร่วมมือกับวัด โรงเรียน ชุมชนใกล้เคียง และหน่วยงานท้องถิ่น สร้างตลาดเกษตรโรงเรียนชาวนาเพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ จากชุมชน ช่วยสร้างงาน กระจายรายได้ให้กับกลุ่มมากขึ้น”

 

 “ที่ห้วยกระเจา จะปลูกข้าวนาปี ฉะนั้นในช่วงนอกฤดูทำนา ทางกลุ่มวิสาหกิจจึงช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดปี หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นไปได้พบว่าหากนำ “การท่องเที่ยว” มาเชื่อมต่อกับฐานการทำงานเดิมจะช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนในวงกว้างมากขึ้น เพราะชุมชนดอนแสลบ มีของดีหลายอย่างที่เป็นมนต์เสน่ห์ของท้องถิ่น เช่น อาหารการกิน ผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่จะเป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวเข้ามายังชุมชนได้ ดังนั้น ในปีนี้ จึงได้สนับสนุนและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในแนวคิด “เที่ยว 3 ธรรมตามวิถีห้วยกระเจา” โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ด้าน 1) พัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณค่าโดยใช้นวัตกรรมมาสร้างสินค้าใหม่ๆ  2) พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน โดยจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 1 วัน และ 2 วัน รวมถึงพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นยุวมัคคุเทศก์นำเที่ยว  และ 3) สนับสนุนการจัดทำข้อมูลและการสืบค้นผ่าน QR Code การประชาสัมพันธ์พื้นที่ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงร่วมมือกับ Wongnai หนึ่งในสตาร์ทอัพของโครงการ InVent โดยอินทัช เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างทั้งในด้านสถานที่ท่องเที่ยว สินค้าพื้นถิ่น และด้านอื่นๆ”

 

น.ส.รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ อินทัช  กล่าวว่าแต่ละพื้นที่ ชุมชนมีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นในเริ่มแรกจะต้องมาหารือร่วมกันว่าชุมชนต้องการสิ่งใด จากนั้นจะดึงจุดเด่นออกมานำเสนอ โดยพื้นที่ห้วยกระเจาเป็นพื้นมีจุดที่เข้มแข็งมาก จึงเดินหน้าโครงการอย่างรวดเร็ว มีการประสานงานกับชุมชนใกล้เคียงเพื่อร่วมกันผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่าย และสรุปสุดท้ายจะมีการวัดผลและขยายผล ไปสู่เป้าหมายชุมชนที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

 

 นายโรจน์ศักดิ์ บุญมี ประธานวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชุมชนในจุดเริ่มต้นเราผลิตข้าวเมื่อนำมากินและขายให้โรงสีในราคาต่ำจากนั้นได้รับการสนับสนุนจากอินทัช เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้ประชาชนสามารถเพิ่มรายได้ มีความเป็นอยู่ดีขึ้นมองเห็นอนาคตมากกว่าการผลิตเองขายเอง และกำลังขยายตลาดออกไป เช่นการวางขายที่ห้างสรรพสินค้าในกทม.

 

 

“ขณะนี้การผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายยังไม่เพียงพอ ผลิตแทบไม่ทัน จึงได้จับมือกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ที่ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี และขยายเครือข่ายผู้ปลูกข้าวให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะผลิตข้าวให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้มาตรฐานห้วยกระเจา  โดยในอนาคตจะส่งต่อโครงการเหล่านี้ไปยังคนรุ่นต่อไป เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย มีสินค้าต่อยอดจากข้าวหอมมะลิ และเน้นการขายสินค้าเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดสารเคมีเป็นมิตรกับผู้บริโภค”

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wongnai กล่าวว่า  ห้วยกระเจามีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยมาสัมผัส ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ธรรมะ โบราณสถาน และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เหมาะกับคนที่ต้องการพักผ่อนจิตใจให้นิ่งสงบ สำหรับความร่วมมือกับอินทัชในครั้งนี้ ผมมองว่าพวกเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะช่วยเหลือ และสนับสนุนชาวบ้านให้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทาง Wongnai จะเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในส่วนของพื้นที่ท่องเที่ยวผ่าน Wongnai Travel, นำข้าวหอมกระเจาและวัตถุดิบพื้นถิ่นของชุมชน เช่น มะสัง มาทำเป็นเมนูต่างๆ ใน Wongnai Cooking นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม ปี 2020 เราจะนำข้าวหอมกระเจา พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของชุมชนไปออกบูธขายในงาน Wongnai Bangkok Food Festival 2020 ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้คนได้รู้จักห้วยกระเจามากขึ้น

 

สำหรับ การเที่ยว 3 ธรรม ตามวิถีห้วยกระเจา เริ่มจาก

 ธรรมที่ 1: ธรรมะ  การสักการะพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ศูนย์รวมจิตใจของคนห้วยกระเจา เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน ความสูง 32 เมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยันในประเทศอัฟกานิสถานที่ถูกระเบิดทำลายไป   วัดทิพย์สุคนธาราม พระอุโบสถรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง วัดสระกระเบื้อง วัดโบราณเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น  ชื่นชมความงามกับโบสถ์มหาอุด และเจดีย์ทรงเครื่อง วัดโบสถ์ โบราณสถานร้างอายุ 300 ปี ศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ประกอบด้วยอุโบสถ 1 หลัง เจดีย์ประธานทรงระฆัง 1 องค์ และเจดีย์รายไม่น้อยกว่า 37 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ วัดบ้านพนมนาง โบสถ์เก่าอายุ 300 ปี สร้างด้วยหินวางเรียงรายซ้อนกัน ขนาบข้างด้วยกำแพงแก้วสูงตระหง่าน

ธรรมที่ 2 : ธรรมชาติ  ท้าทายคนชอบปีนเขากับการเดินไต่เขากว่า 1,500 ขั้นบันได เรียนรู้การทำภูเขาเปียก หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ “เขาขวาง” หรือ “เขาฝาง” ตั้งอยู่บริเวณวัดทิพย์สุคนธารามในอดีตเป็นภูเขาหัวโล้น ภายหลังการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ชาวดอนแสลบและหน่วยงานในพื้นที่จึงมีแนวคิดจัดทำระบบภูเขาเปียกอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นโดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาฟื้นฟูภูเขาให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของคนในพื้นที่ เช่น ปลูกต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่เสริม วางระบบกระจายน้ำบนภูเขาให้ทั่วถึง ติดตั้งระบบสูบน้ำขึ้นที่สูง และทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น 

ธรรมที่ 3 : วิถีวัฒนธรรม ห้วยกระเจามีวิถีวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้ ทั้งในเรื่องของการทำนาในพื้นที่แล้ง อาหารพื้นถิ่น เช่น ไก่กระทอก แกงหน่อไม้ดองถั่วเขียว และน้ำพริกมะสัง เป็นต้น รวมถึงสามารถซื้อหาของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของห้วยกระเจาได้ที่ตลาดเกษตรโรงเรียนชาวนา วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา เปิดขายทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรในชุมชนที่ปลอดภัยไร้สารเคมี  อาทิ ข้าวหอมกระเจา ข้าวปลอดสารเคมี, เมล่อนรสดีที่ปลูกในโรงเรือนปิดควบคุม, ผักและผลไม้ตามฤดูกาล และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเห็ด เช่น แหนมเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด และโยเกิร์ตเห็ด น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวหอมมะลิที่มีกลิ่นเฉพาะตัว (Jasmin Rice Vinegar) และเครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักผสมน้ำเมล่อน (Melon Vinegar Drink) ใช้ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น คือ ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น  ซึ่งในแต่ละปี จะมีผู้ที่เดินทางเที่ยวและดูงานกว่า 24,000 คน

 ในอนาคตอินทัช จะสนับสนุนให้โครงการที่ห้วยกระเจานั้นเป็นโมเดลต้นแบบ ที่ชุมชนได้ร่วมสร้างคุณค่าให้สังคมโดยเชื่อมโยงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยให้ดีขึ้นทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่การพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

หน้าแรก » การศึกษา