วันอังคาร ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 15:24 น.

การศึกษา

ม.มหาสารคาม สร้างแอป คัดกรองกลุ่มเสี่ยงป่วยโควิด-19

วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 15.26 น.

ม.มหาสารคาม สร้างแอป   คัดกรองกลุ่มเสี่ยงป่วยโควิด-19

 
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ออกแบบแอปพลิเคชัน MSU Health Care บนมือถือ เพื่อติดตามผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 สำหรับกลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีอาการเป็นไข้หวัดทั่วไปที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการเข้าข่ายในเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง รีบส่งตัวรักษาได้ทันที
 
รศ. ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความกังวลและห่วงใย นักเรียน นิสิต อาจารย์ บุคลากรในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้หาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำทุกทางที่จะป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรค  และล่าสุดได้มีแนวคิดในการออกแบบแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อคัดกรองและติดตามผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดเป็นแอปพลิเคชัน MSU Health Care ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ดาวน์โหลดมาใช้ในการเฝ้าระวังอาการของตนเอง โดยมี อาจารย์ ดร.สมหมาย ขันทอง อาจารย์สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าว สำหรับแอปพลิเคชัน MSU Health Care เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยคัดกรองตัวเองได้เบื้องต้นว่าเรามีโอกาสจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจไปพบแพทย์ วิธีการใช้งานเริ่มจาก ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MSU Health Care บนมือถือได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS จากนั้นลงทะเบียนโดยกรอกข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้น เช่น ชื่อ- สกุล อายุ อาชีพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หน่วยงานที่สังกัด และเปิดอนุญาตให้แอปพลิเคชันนี้สามารถใช้งาน GPS ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่ย้อนกลับในกรณีที่มีการติดเชื้อ
 
ดร.สมหมาย ขันทอง เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน MSU Health Care แบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่กลุ่มเสี่ยง 2. กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่กลุ่มเสี่ยง และ 3.ผู้ที่มีอาการเสี่ยงหรือน่าสงสัย ที่จำเป็นต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา14 วัน การทำงานของแอปฯนี้  จะเป็นเหมือนสมุดบันทึกให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและถูกกักตัว โดยผู้ใช้สามารถบันทึกอาการที่เกิดขึ้นประจำวันไว้ในแอปพลิเคชันนี้และส่งไปยังบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ตรวจสอบ สามารถระบุพื้นที่ของผู้ถูกเฝ้าระวังได้ด้วยว่าได้อยู่ในพื้นที่ใด โดยการใช้ข้อมูลพิกัด GPS ในเครื่องโทรศัพท์มือถือ และจะวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นของการเป็นผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จากข้อมูลประวัติอาการที่บันทึกในแอป นอกจากนั้นบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ประสานงานโควิด - 19 สามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน web application ได้ตลอดเวลา
 
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน MSU Health Care สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ IOS และ Android โดยผู้ใช้งานต้องเข้าเว็บไซต์ portal.msu.ac.th และล็อกอินด้วยบัญชีของนิสิตและบุคลากรที่ใช้สำหรับเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย และเลือกเมนู “แอปพลิเคชั่น” แล้วเลือกแอปพลิเคชัน MSU Health Care และคลิกเลือกติดตั้งบนระบบ IOS สำหรับโทรศัพท์ iPhone หรือคลิกเลือกติดตั้งบนระบบ Android ซึ่งสำหรับ Android นั้นต้องใช้บัญชีอีเมล @msu.ac.th ใน Google Play เท่านั้น
 
อธิการบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากขอความร่วมมือให้ผู้ใช้งาน ได้ให้ข้อมูลด้วยความเต็มใจและเป็นข้อมูลจริง เพราะเชื่อว่าการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน จะช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะสะดวกในการติดตามและเฝ้าระวังการติดเชื้อได้ ซึ่งจะสามารถประเมินอาการความน่าจะเป็นของกลุ่มเสี่ยงว่าอยู่ในระดับใดใน 3 ระดับ คือ ปกติ เฝ้าระวัง และมีความเสี่ยง หากแอปพลิเคชันประเมินอาการพบว่า มีความเสี่ยง (สัญลักษณ์สีแดง) ก็จะทำให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วและหายจากอาการป่วยได้เร็ว แต่หากแอปพลิเคชั่นประเมินอาการพบว่า ปกติ (สัญลักษณ์สีเขียว) หรือเฝ้าระวัง (สัญลักษณ์สีส้ม) เราก็สามารถดูแลรักษาสุขภาพในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์หรือเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา