วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:39 น.

การศึกษา

อีสานแห้งแล้ง!!! เพราะถูกสาปหรือตราบาปให้ตัวเอง

วันศุกร์ ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564, 10.02 น.

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2564 เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ได้โพสต์ข้อความว่า อีสานแห้งแล้ง!!! เพราะถูกสาปหรือตราบาปให้ตัวเอง 
 
สองเดือนล่วงแล้ว ที่หนีโควิดลงท้องทุ่งมุ่งพัฒนาพุทธเกษตรกรรมโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล สิ่งหนึ่งที่กำลังครุ่นคิดในขณะที่เผชิญสถานการณ์จริง คือ คำถามที่ว่า อีสานเป็นพื้นที่แห้งแล้งจริงหรือ??? ถ้าจริง เพราะเหตุใด? ภาพทุ่งกุลาร้องไห้จึงเปลี่ยนจากแล้งสู่ความอุดมสมบูรณ์ ภาพของอีสานที่ปรากฏในภาพยนต์ลูกอีสานจึงเปลี่ยนจากแล้งเป็นเขียวขจี

ความแห้งแล้งที่คนทั่วไปพยายามตอกหมุดฝังชิพ เรียกขานใส่เรื่องราวให้ภาคอีสานนั้น แท้จริงแล้ว ความแห้งแล้งในพื้นที่อีสานเกิดขึ้นจากเหตุผลและตัวแปรใดบ้าง ส่วนตัวที่เฝ้ามองพบคำตอบที่น่าสนใจว่า เกิดจาก 5 ตัวแปรหลัก (1) ภัยธรรมชาติ (2) พฤติกรรมของคน (3) Mindset  (4) การถูกโปรแกรม (5) ทักษะการบริหารจัดการน้ำ ดิน ลม ป่าในวิถีธรรมชาติ

กล่าวถึงภัยแล้ง ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญในทุกพื้นที่ของโลกและสังคมไทย ด้วยสภาวะความผันผวนและแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อันเกิดจากตัวธรรมชาติเองบ้าง เกิดจากน้ำมือของมนุษย์บ้าง ธรรมชาติจึงไม่ได้สาปเฉพาะพื้นที่ของภาคอีสานแต่ทำงานครอบคลุมทั้งโลก

อย่างไรก็ดี ความแล้งจึงมิใช่ปัญหา เพราะหลายพื้นที่ เช่น อิสราเอล หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เป็นทะเลทรายก็สามารถแปรพื้นที่ปลูกต้นไม้และอาหารการกิน เลี้ยงปากท้องของคนในประเทศ รวมถึงบางประเทศสามารถแปรน้ำทะเลเป็นน้ำจืด

อีสานไม่ใช่ว่าไม่มีน้ำใต้ดิน ความจริง น้ำมีแต่อยู่ลึกตั้งแต่หกเมตรลงไป หลายคนยอมรับความแห้งแล้งว่าเป็นบาปกรรม เป็นที่ที่ถูกสาป จึงยอมแพ้ต่อธรรมชาติ ไม่คิดต่อสู้ขวนขวานหาแหล่งน้ำที่อยู่ลงลึกไปใต้ดิน ขุดเพียง 3-4 เมตร พอถึงหน้าร้อนจึงทำให้น้ำละเหยไว และแห้งขาด

สิ่งที่ตามมาพร้อมกัน คือความคิดที่ว่าเราเกิดมาในพื้นที่ยากจนแห้งแล้ง ไร้ทรัพย์สินเงินทองเลี้ยงตัวและครอบครัว จึงนำไปสู่เป็นหนี้ ยากจน เครียด กินเหล้าเมายา แล้วจบลงด้วยการทุบตีลูกและภรรยา 

ประกอบกับพฤติกรรรมการไม่สะสมแหล่งน้ำ ไม่สร้างธนาคารน้ำ ทั้งระบบเปิดและระบบปิด  เมื่อฝนตกหนัก น้ำไหลหลาก จึงไหลบ่าลงไปในที่ลุ่ม ในแม่น้ำต่างๆ และไหลลงในแม่น้ำโขง และลงทะเล ผืนดินจึงขาดความชุ่มชื้น ขาดน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ต้นไม้ และพืชผัก

ในขณะที่อาชีพทำนา มุ่งจะให้ได้ข้าวมากที่สุด ทำให้สะดวกและรวดเร็วที่สุด จึงต้องตัดต้นไม้ออกเพื่อไม่ให้เงาไม้ไปทับข้าว และให้รถไถรถเกี่ยวทำงานได้สะดวก  นอกจากหญ้าแล้ว คนอีสานที่ทำนาจะมองว่า ต้นไม้ได้กลายเป็นวัชพืชของข้าวด้วยเช่นกัน 

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น เพลง และภาพยนต์ที่นำมาขับขานและจัดฉายนั้น สร้างภาพให้คนอีสานทิ้งพ่อแม่และลูกน้อยออกไปเป็นกรรมกรขายแรงงานแบกอิฐแบกปูน ไปทำงานรับจ้างเป็นลูกจ้างชนชั้นนายทุน เป็นยายแจ๋วอีแจ๋วให้กับคนเมือง หอบลูกหลานหนีไปขายส้มตำและสิ่งของตามข้างทางในเมืองใหญ่

สรุปแล้ว สถานการความแห้งแล้งในภาคอีสานนั้น เกิดจาก #แห้งแล้งนอก กับ #แห้งแล้งใน แห้งแล้งนอกคือสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วโลก แม้จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมก็จริง แต่สัมพันธ์กับน้ำมือมนุษย์ที่ก่อกรรมทำเข็ญทำร้ายสภาพแวดล้อม มุ่งประโยชน์ส่วนตน และรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ในขณะที่แห้งแล้งในเกิดจากความคิดที่ฝังแน่นลึกอยู่ในจิตใจตั้งแต่เกิดจากรุ่นสู่รุ่นว่า อีสานผืนดินแห้งแล้งจะทำมาหากินอะไรได้ มิสู้หนีไปขายแรงงานทำมาหากินในเมืองใหญ่ กอรปกับระบบการศึกษาและการเมืองที่มุ่งตอบโจทย์ชนชั้นนายทุนการพัฒนาประเทศที่มุ่งเฉพาะความเติบโตทางธุรกิจ

ในขณะเดียวกัน ชาวนาก็มีความเชื่อและพฤติกรรมการทำนาอย่างผิดๆ จนไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา อีกทั้งบทเพลงและภาพยนต์ที่ฝังชิพใส่โปรแกรมให้ภาพคนอีสานยากจน เครียด กินเหล้า เป็นหนี้ ไม่มีเศรษฐีและประสบความสำเร็จ 

ภาพประทับ และกระบวนการผลิตซ้ำจนกลายเป็นคำสาป และใส่ดีเอ็นเอเป็นตราบาปให้แก่คนอีสานจากรุ่นปู่ย่าตายายสู่พ่อแม่ จนถึงรุ่นลูกหลาน คำถามคือ คนรุ่นนี้จะยังคงยอมรับชะตาเหล่านั้นหรือไม่ หรือจะร่วมใจกันพลิกผืนดินอีสานให้กลับมาเขียวขจี อุดมสมบูรณ์จนเกิดความมั่นคงทางอาหาร ลูกหลานกลับมาอยู่กับพ่อแม่ ดูแลให้น้ำนมลูกน้อยเกิดอบอุ่นตั้งแต่วัยเยาว์ พัฒนาชุมชนไม่ทิ้งพ่อแม่ไปอีก

หน้าแรก » การศึกษา