การศึกษา
109 ปี เพาะช่าง ขอแยกจาก มทร.รัตนโกสินทร์ เป็นสถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง
วันศุกร์ ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2565, 21.14 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

109 ปี เพาะช่าง ขอแยกจาก มทร.รัตนโกสินทร์ เป็นสถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง
วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เดิมใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” กำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 7 มกราคม 2456 ด้วยพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงศิลปะวิชาการช่างของไทยให้เจริญตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ โดยในวันที่ 7 มกราคม 2565 นี้ถือเป็นวันครบรอบ 109 ปี ของวิทยาลัยเพาะช่าง
.jpg)
อาจารย์วิชัย รักชาติ หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรมไทย เล่าว่าโรงเรียนเพาะช่าง เกิดขึ้นตามราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ต้องการจะสร้างสถาบันการศึกษาด้านศิลปะการช่างของไทยขึ้น ด้วยการอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและให้มีการเรียนรู้ศาสตร์ศิลปะของชาวตะวันตกให้เท่าทันเพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาศิลปะการช่างของไทยต่อไป แต่พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการที่จะทำนุบำรุงศิลปะการช่างไทยยังไม่สำเร็จสมดั่งพระราชหฤทัยก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
จนกระทั่งมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยในวันที่ 7 มกราคม 2456 ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดและทรงพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งมีความหมายว่า สถาบันที่เป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปะการช่าง เป็นต้นกำเนิดแห่งศิลปวิทยา เพื่อผลิดอก ออกผล สร้างความเจริญงอกงามให้กับแผ่นดินด้วยงานศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมไทย ดังกระแสพระราชดำรัสในวันเปิดโรงเรียนเพาะช่างตอนหนึ่งว่า “ความเจริญในศิลปวิชาการช่างเป็นเครื่องวัดความเจริญชาติ” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2462 และต่อมาทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่างเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2466 นอกจากนี้โรงเรียนเพาะช่างยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ ที่ทรงเสด็จเยี่ยมชมกิจการและเปิดนิทรรศการศิลปะในโอกาสต่างๆ มาโดยตลอด กล่าวได้ว่าเป็นสถาบันศิลปะแห่งแรกของไทย โดยในระยะเริ่มต้นได้ดำเนินการจัดการศึกษาทั้งสายช่างศิลปกรรมและครูศิลปะซึ่งเทียบเท่าระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง ให้รายละเอียดว่าปัจจุบัน วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และในวันที่ 22 มีนาคม 2564 ได้ออกกฎกระทรวง การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2564 ณ โดยประกาศให้จัดสถาบันการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3.กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4.กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 5.กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ 6.กลุ่มอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยมหาวิทยาลัยวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ต้นสังกัดมีเป้าหมายและนโยบายระดับองค์กรเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เลือกกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม
.jpg)
จากประเด็นดังกล่าวทำให้วิทยาลัยเพาะช่างต้องกลับมาทบทวนบทบาท พบว่า 1.เพาะช่างเป็นสถาบันที่จัดการเรียนการสอนเทียบเท่าระดับอุดมศึกษามานานกว่า 109 ปี มีหลักสูตรศิลปกรรมที่หลากหลาย เน้นอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ แต่ด้วยปัจจุบันมีสถานะเทียบเท่าคณะวิชาหนึ่งเท่านั้น ทำให้การดำเนินงาน การบริหารจัดการองค์กรเกิดความไม่คล่องตัวและไม่เต็มประสิทธิภาพ 2.การที่มหาวิทยาลัยเลือกเป็นสถาบันการศึกษาในกลุ่มที่ 2 ทำให้ความมุ่งหมายในการพัฒนาคน พัฒนาชาติด้วยงานศิลปวัฒนธรรมอันเป็นศักยภาพเต็มของวิทยาลัยเพาะช่าง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ 3 .กระแสโลกในปัจจุบันมุ่งสู่อนาคตผลักดันเรื่องทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาฐานรากในทุกรูปแบบ ทั้งสื่อบันเทิง การท่องเที่ยว รวมทั้งศิลปะที่เป็นความโดดเด่นของวิทยาลัยเพาะช่างที่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพเพื่อรองรับตลาดแรงงานด้านศิลปกรรมโดยการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการต่อยอดอดีตโดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ซึ่งจะทำให้เพาะช่างได้แสดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมเพื่อสนองยุทธศาสตร์และนโยบายของชาติได้เป็นอย่างดี
จากเหตุผลดังกล่าวเพาะช่างได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปกรรม เทียบเท่ามหาวิทยาลัย ขึ้นตรงกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ในกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มที่ 5 คือ “กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ” โดยได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล กฎหมาย พระราชบัญญัติ โดยมีการเข้าปรึกษาหารือบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งศึกษาถึงรูปแบบการจัดการศึกษาของสถาบันศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการเรียนการสอนในลักษณะเดียวกัน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอมติสภามหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติต่อไป
อาจารย์สุเทพ จ้อยศรีเกตุ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศิลป์ หนึ่งในคณะทำงานเรื่องนี้ ได้ฉายภาพความพร้อมของเพาะช่าง ว่า ชื่อเพาะช่างเป็นที่ยอมรับจากสังคมทั้งชื่อเสียงและศักยภาพในด้านต่างๆ มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเป็นที่ยอมรับ มีศิษย์เป็นศิลปินแห่งชาติจำนวน 39 คน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก มีสถานที่ตั้งในเขตพระนคร กรุงเทพมหานครอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงแวดล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการเรียนรู้เป็นอย่างดี มีบุคลากรสายวิชาการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันการรับสมัครนักศึกษาหลายสถาบันไม่สอดคล้องตามแผน แต่พบว่าเพาะช่างยังสามารถคัดเลือกผู้เข้าเรียนได้จำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาต่อมากกว่าแผนการรับ ด้านอัตลักษณ์เพาะช่างถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่มีหลักสูตรด้านศิลปะประจำชาติมากที่สุด และจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมร่วมกับการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายในอนาคตของการจัดตั้ง จะมีพันธกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ให้เกิดการสร้างงานสร้างบุคลากรในการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงมั่นใจว่าเพาะช่างมีความพร้อมเต็มกำลังในการยกสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปกรรม เทียบเท่ามหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ “สถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง”
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม saowaporn@hotmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การศึกษา
Top 5 ข่าวการศึกษา ![]()
- "ศุภชัย" ชี้มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่แค่ “แหล่งสอนหนังสือ” แต่ต้อง “ลงไปอยู่ในใจของชุมชน” เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา สร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชน 3 พ.ค. 2568
- เยาวชนวิทย์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ชนะเลิศ Thailand Junior Water Prize 2025 3 พ.ค. 2568
- น้ำมันหอมระเหย “ดอกมะลิลา”สุคนธบำบัดเพื่อการผ่อนคลาย 3 พ.ค. 2568
- คิกออฟ TU Care & Ageing Society ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมเป็นกำแพงพิงหลังใน”สังคมสูงวัย” 3 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดการศึกษา ![]()
เยาวชนวิทย์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ชนะเลิศ Thailand Junior Water Prize 2025 15:48 น.
- "ศุภชัย" ชี้มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่แค่ “แหล่งสอนหนังสือ” แต่ต้อง “ลงไปอยู่ในใจของชุมชน” เป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา สร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชน 11:14 น.
- น้ำมันหอมระเหย “ดอกมะลิลา”สุคนธบำบัดเพื่อการผ่อนคลาย 10:32 น.
- คิกออฟ TU Care & Ageing Society ธรรมศาสตร์’ ประกาศความพร้อมเป็นกำแพงพิงหลังใน”สังคมสูงวัย” 07:07 น.
- อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำเจ้าอาวาสวัดดอนยางร้องขอออกโฉนดที่ดิน 18:43 น.