วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 16:57 น.

การศึกษา

นักวิจัยจุฬาฯพัฒนา “กรีน บับเบิล” ต้นแบบสครับเซลลูโลสจากพืช

วันศุกร์ ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565, 15.23 น.
นักวิจัยจุฬาฯพัฒนา “กรีน บับเบิล” ต้นแบบสครับเซลลูโลสจากพืช
 
               
สครับ (Scrub) หรือการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้วยการขัดถู เป็นหนึ่งในวิธียอดนิยมของคนรักผิว บริษัทเครื่องประทินผิวต่างๆ จึงพยายามตอบโจทย์ความงามของผู้บริโภคด้วยนวัตกรรม “เม็ดบีดส์” สครับนาโนที่มีอนุภาคขนาดเล็กสามารถขจัดสิ่งสกปรกได้อย่างล้ำลึก ผลัดผิวใหม่กันเลยทีเดียว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือเม็ดบีดส์เหล่านี้ไม่ย่อยสลายและเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม
 
 
เมธีรัตน์ ธานีรัตน์ นิสิตระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงวิจัยและพัฒนาตัวเลือกที่เป็นคำตอบให้กับผิวหน้าและสิ่งแวดล้อม จนประสบความสำเร็จในการผลิตต้นแบบ “กรีน บับเบิล : ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าประสิทธิภาพสูงจากเซลลูโลสอสัณฐาน”
 
 
“เม็ดสครับที่มีอยู่ในหลายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าส่วนใหญ่จะเป็นโพลิเมอร์สังเคราะห์ ซึ่งได้มาจากการสังเคราะห์ปิโตรเลียม ไม่สามารถกรองได้ 100% ทำให้สครับพวกนี้หลุดไปสู่ระบบนิเวศและย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในที่สุด เราจึงพัฒนาตัวเม็ดบีดส์ไมโครขึ้นมาจากธรรมชาติ ซึ่งก็คือเซลลูโลสจากพืช 100% ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์” เมธีรัตน์ เผยถึงความสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมความงาม “กรีน บับเบิล”
 
 
พลาสติกไมโครบีดส์ (Plastic microbeads) ที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางต่างๆ ถูกห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2563 สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้าหรือจัดจำหน่าย พลาสติกสังเคราะห์ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่ใช้ในการทำความสะอาด เนื่องจากเป็นพลาสติกขนาดเล็กที่ไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สามารถหลุดรอดผ่านตะแกรงกรองน้ำและฝาท่อไหลลงสู่แหล่งน้ำกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลและย้อนกลับมาเป็นอาหารของมนุษย์
 
 
“กรีน บับเบิล” เศษจากกระบวนการผลิตกระดาษ สู่สครับผิวใส -  เมธีรัตน์ พัฒนานวัตกรรม “กรีน บับเบิล” จากเยื่อยูคาลิปตัสเหลือใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ
 
 
“เราใช้เพียงเซลลูโลสอสัณฐานที่สกัดแยกส่วนคริสตัลไรด์ออก เนื่องจากมีคุณสมบัติดักจับสิ่งสกปรกได้ดีกว่าคริสตัลไรด์ และแปรรูปเป็นเม็ดบีดส์ หรือ “บับเบิล” เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทั้งเจลล้างมือ โฟมล้างหน้า หรือ สครับผิว”
 
               
เซลลูโลสอสัณฐานเป็นโครงสร้างโมเลกุลที่มีคาร์บอนและไฮโดรเจนที่ต่อกันเป็นสายยาว เป็นพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่สามารถดูดจับสิ่งสกปรกได้ และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับพอลิเมอร์สังเคราะห์ ผลิตได้จากวัสดุธรรมชาติมีความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
 
 
เมธีรัตน์ กล่าวถึงจุดเด่นของ “กรีน บับเบิล” ว่ามีประสิทธิภาพในการขจัดเซลล์ผิวแห้ง และสามารถเพิ่มคุณสมบัติอื่นๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น บรรจุซิงค์ออกไซด์หรือทองคำเพื่อยับยั้งการเกิดสิว และเพิ่มความอ่อนเยาว์ให้กับผิวหน้า เป็นต้น
 
 
นอกจากผลิตภัณฑ์ความงามแล้ว เมธีรัตน์ เล็งต่อยอดนวัตกรรมเม็ดบีดส์จากธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ด้วย โดยจะพัฒนาเป็นยาสมานแผล
 
 
“เม็ดบีดส์แบบนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายฟังก์ชัน อย่างยาสมานแผล เราอาจจะเติมตัวยาเข้าไปในบับเบิล เมื่อทายาแล้ว ตัวยาจะแตกตัวออก แทรกซึมเข้าไปในแผลได้ดีกว่าการทายาทั่วไป ซึ่งประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับตัวยาที่จะใส่ในเซลลูโลส  ทั้งซิงค์ออกไซด์หรือยาที่ใช้สมานแผล” เมธีรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าปัจจุบัน นวัตกรรมนี้ยังเป็นต้นแบบ ซึ่งต้องรอการวิจัยขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
 
 
 
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา