วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 01:04 น.

การศึกษา

เลขาฯ กพฐ. ลงพื้นที่แม่สอด เยี่ยมร.ร เสี่ยงการสู้รบในพม่า

วันเสาร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565, 16.45 น.
เลขาฯ กพฐ. ลงพื้นที่แม่สอด เยี่ยมร.ร เสี่ยงการสู้รบในพม่า  
 
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยนายบุญรักษ์ ยอดเพชร คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านแม่โกนเกน และโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตาวกลางมิตรภาพที่ 26 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 ในฐานะเป็นศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย โดยตรวจดูหลุมหลบภัยภายในโรงเรียน พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบของประเทศเมียนมา ตามแนวชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนายปิลัทธ์ อุดมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ร่วมรายงานสถานการณ์ให้คณะฯได้รับทราบ
 
นายอัมพร พินะสา กล่าวว่า ตนได้มาเยี่ยมและให้กำลังใจ ครู นักเรียน พี่น้องโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน และโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ตาวกลางมิตรภาพที่ 26 ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์การสู้รบดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงฝั่งตรงข้ามชายแดนในฝั่งไทย ทำให้นักเรียนและครูโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งเมื่อสองวันก่อน มีเหตุการณ์กระสุนบางชนิดจากฝั่งเมียนมาได้ข้ามฝั่งมายังฝั่งไทย ทำให้ครูและนักเรียนเกิดความวิตกกังวล จึงได้มีการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูล ความเคลื่อนไหว ตลอดจนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการป้องกันและแผนเผชิญเหตุ หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นต่อครูและนักเรียน เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้ครูและนักเรียน มีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจุดที่เดินทางมาดูเเป็นจุดสำหรับรองรับนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก ชั้นป.1-3 หากเกิดเหตุรุนแรงก็จะเป็นที่หลบภัยชั่วคราวได้ ในส่วนของเด็กโต ชั้นป.4-6 และม.1-3 จะเรียนในอาคารที่เป็นจุดปลอดภัยอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วงตรงนี้ นอกจากนั้น เราได้มาดูพื้นที่จริงเพื่อประเมินสถานการณ์การป้องกันและแผนรับมือฉุกเฉินของโรงเรียนด้วย ซึ่งจากการรายงานของผู้อำนวยการโรงเรียน และฝ่ายความมั่นคงทางทหาร ทำให้อุ่นใจได้ว่าสถานการณ์สู้รบดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท เราจะเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไขครับ
 
ประเด็นต่อมาคือเรื่องการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังมีการแพร่ระบาดของสายพันธ์ใหม่อยู่ในขณะนี้ สำหรับการจัดการเรียนการสอนของเด็กเล็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่สามารถเรียน On-Site ได้ เราแนะนำคุณครูให้ปรับใช้วิชาที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และวิชาที่เป็นทักษะในการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขมาสอนให้กับเด็กก่อน ส่วนเด็กโต สามารถเรียนแบบ Online และ On-Demand ได้ เนื่องจากสามารถอ่านออกเขียนได้ พร้อมทั้งมีเครื่องมือและทักษะทางเทคโนโลยีที่ดี
 
นอกจากนี้ได้เสนอแนะให้ทางโรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเล็ก โดยการสอนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองก่อน แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะนำไปสอนให้กับลูกๆ ต่อ หรือที่เราเรียกว่า “ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” ก็จะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
 
"ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 เรามีการสอนอยู่ 5 รูปแบบ คือ On-Site, On-Air, Online, On-Hand และ On-Demand แต่เราค้นพบว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนที่โรงเรียน (On-Site) เพราะนักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครู ได้มีการพัฒนาเชิงสังคม บวกกับการศึกษาเรียนรู้ก็จะทำให้เกิดทักษะชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งจากนโยบายการให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดลง จึงอยากให้โรงเรียนที่สอนในชั้นมัธยมได้กลับมาเรียนแบบปกติ เพราะจากตัวเลขการระบาดและการติดเชื้อที่ลดน้อยลง หากได้รับวัคซีนแล้วโอกาสในการติดเชื้อและแพร่ระบาดก็จะลดน้อยลง และไม่เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย. ได้อนุญาตการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี สพฐ. จึงได้ดำเนินการสำรวจและขออนุญาตคำยินยอมจากผู้ปกครองให้นักเรียนมาฉีดวัคซีนให้มากๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสมาเรียนที่สถานศึกษาต่อไป" นายอัมพร กล่าว
 
 
 
 email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com
 
 

หน้าแรก » การศึกษา