วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:37 น.

การศึกษา

สอศ.ลุยพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยพร้อมใช้ปี 67

วันอังคาร ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 15.36 น.

สอศ.ลุยพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยพร้อมใช้ปี 67

 

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หมวดวิชาสมรรถนะแกนกลาง และหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพพื้นฐาน โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากร สอศ. พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ

 

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หมวดวิชาสมรรถนะแกนกลาง และหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพพื้นฐาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  (สอศ.) ได้พัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอาชีวศึกษา สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการวิเคราะห์ ประเภทวิชา กลุ่มอาชีพ และสาขาวิชา จากอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จำนวน 33 กลุ่มอาชีพ โดยผลที่ได้สามารถแบ่งกลุ่มอาชีพ ได้ 37 กลุ่มอาชีพ ซึ่งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 67 สาขาวิชา และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 109 สาขาวิชา โดยกลุ่มสมรรถนะแกนกลาง จำนวน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์, กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์, กลุ่มวิชาภาษาไทย, กลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ, กลุ่มวิชาสังคมศึกษา และกลุ่มวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ กลุ่มสมรรถนะวิชาชีพพื้นฐาน จำนวน 12 ประเภทวิชา ประกอบด้วย ประเภทวิชาอุตสาหกรรม, ประเภทวิชาบริหารธุรกิจ, ประเภทวิชาศิลปกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ประเภทวิชาคหกรรม, ประเภทวิชาเกษตรกรรมและประมง, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมดิจิทัล, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมบันเทิง, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม, ประเภทวิชาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และประเภทวิชาอุตสาหกรรมอาหาร

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว จะประกาศใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา พ.ศ. 2567 โดยจะเป็นหลักสูตรที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพทั้งในประเทศและระดับสากล ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา มีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นประโยชน์ในการเทียบคุณวุฒิการศึกษา กับระดับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

 

"อาชีวศึกษานั้นนอกจากจะมุ่งเน้นเรื่องทักษะฝีมือ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ สิ่งที่จำเป็นมากอีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องคุณธรรมในวิชาชีพ ต้องเสริมสร้างจริยธรรม ความตระหนัก จิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และทำให้สอดคล้องกับแนวคิด เรียนดีมีความสุข  ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ"

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา