วันจันทร์ ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 13:57 น.

การศึกษา

สวธ.พร้อมหนุน "หมอลำพื้นบ้าน" ขึ้นทะเบียน "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" ของยูเนสโก  

วันพุธ ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 12.39 น.

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566  ที่ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ อาคารวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการ “หมอลำพื้นบ้าน จากมรดกอีสาน สู่มรดกโลก” พร้อมทั้งกล่าวว่า สวธ.ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น จัดเสวนาวิชาการ “หมอลำพื้นบ้าน จากมรดกอีสาน สู่มรดกโลก” เพื่อยกระดับหมอลำพื้นบ้านอีสาน ให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสวธ.มีกรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน คือ การยกระดับวัฒนธรรมไทยสู่สากล การส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม การยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ การส่งเสริมและพัฒนางานภาพยนตร์ เกมวีดิทัศน์ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ ดังนั้น สวธ.จึงพร้อมสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงาน วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จะสามารถยกระดับและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมการแสดงหมอลำพื้นบ้าน เพื่อการเสนอหมอลำในการขึ้นทะเบียนสู่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage –ICH) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ต่อไป

ทั้งนี้ในการเสวนาวิชาการ ประกอบด้วยหัวข้อเสวนาในช่วงที่ 1 หัวข้อ “หมอลำพื้นบ้าน : จากมรดกอีสาน สู่มรดกโลก (ICH) ” มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.ฉวีวรรณ พันธุ นายฉลาด ส่งเสริม ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร อาจารย์พงศพร ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วย นางชวาลา หาญสุริย์ คณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผศ.ดร.มนูศักดิ์ เรืองเดช อาจารย์สาขาวิชาศิลปะการเเสดง คณะมนุษยศาสตร์เเละสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ ช่วงที่ 2 “โอกาสและความท้าทายของหมอลำอีสาน ในยุคหมอลำฟีเวอร์ อีสานฟีเวอร์ กับการยกระดับหมอลำสู่ซอฟต์พาวเวอร์” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุชาติ อินทร์พรหม รองประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอน หัวหน้าหมอลำคณะอีสานนครศิลป์ หมอลำทองแปน พันบุปผา หมอลำกลอนและหมอลำกลอนประยุกต์ชื่อดังภาคอีสาน หมอลำอภินันท์น้อย ดาวเหนือ หมอลำกลอนประยุกต์ น.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ThaiPBS อาจารย์ธีรวัฒน์ เจียงคำ นักวิชาการอิสระด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน และน.ส.จินตนา ชูพรมวงษ์ นักพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์อาวุโส สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขอนแก่น