วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 04:31 น.

การศึกษา

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเยี่ยมชมวัดพระยืน จังหวัดลำพูน

วันพุธ ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2568, 16.10 น.

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568   นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเยี่ยมชมวัดพระยืน โดยมีพระอธิการสิริพงศ์ ปัญญาชโย เจ้าอาวาสวัดพระยืน เป็นผู้นำชม และมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ วัดพระยืน จังหวัดลำพูน

“วัดพระยืน” เรียกตามปูชนียวัตถุสำคัญที่อยู่ในวัด คือพระยืน (พระพุทธรูปยืน) กล่าวถึงตอนที่พระญากือนาได้อาราธนานิมนต์พระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย เพื่อมาเชียงใหม่ โดยได้พักที่วัดพระยืน ในเมืองหริภุญชัย ราว พ.ศ. 1912 ซึ่งขณะนั้นได้มีพระยืน 1  องค์อยู่ก่อนแล้ว แต่บริเวณนั้นเป็นป่า พระญากือนาจึงให้คนไปแผ้วถาง แล้วสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก 3  องค์ โดยองค์หนึ่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ และอีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ และสร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปยืนทั้ง 4  องค์นี้ไว้

ต่อมามณฑปที่ได้สร้างไว้นั้นทรุดโทรมและปรักหักพังลง ส่วนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในมณฑปคงเหลือที่สมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันออกองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น ในสมัยของ เจ้าหลวงอินทยงยศ จึงได้ให้หนานปัญญาเมือง ชาวบ้านหนองเส้ง ซึ่งเป็นช่างประจำคุ้มหลวงเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างครอบของเดิมที่ปรักหักพังไป แล้วให้นำเอาอิฐ หิน และดินที่พังลงมานั้น ใส่ถมพระมณฑปองค์เดิมที่มีพระพุทธรูปยืนเหลือเพียงองค์เดียวนั้นจนหมดสิ้น

มณฑปองค์ใหม่นี้ ทำจากศิลาแลงและอิฐบางส่วน และประดับลวดลายปูนปั้น ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงกว่าเดิมมาก มีบันไดที่ตกแต่งด้วยเหงาทอดขึ้นสู่มณฑปทั้ง 4 ด้าน บนมณฑปมีลานทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ หรือเจดีย์บริวาร ถัดจากฐานมีเรือนธาตุย่อเก็จ และซุ้มจระนำ 4 ด้าน โดยยึดรูปแบบคล้ายกับองค์เดิมที่สร้างในสมัยของพระญากือนา แต่ละซุ้มประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปยืน เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถาสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 4 ชั้น และมีมุมประดับด้วยสถูปิกะ ส่วนยอดประดับด้วยฉัตร นอกจากนั้นยังมียอดเล็ก ๆ ที่ประดับรอบยอดใหญ่อีก 4  ยอด อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่ารูปลักษณะของมณฑปวัดพระยืนนี้ คล้ายกับมณฑปสัพพัญญูในเมืองพุกามประเทศพม่า ทั้งนี้คงเนื่องมาจากชาวพม่าเข้ามาอาศัยในล้านนาและได้มีส่วนสร้างหรือสนับสนุนในการบูรณะมณฑปพระยืนแก่หนานปัญญาเมือง
 

หน้าแรก » การศึกษา