วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 09:31 น.

การศึกษา

คณะอนุ กมธ. คนพิการฯ วุฒิสภา จัดประชุม “เสียงจากดาวน์”

วันศุกร์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.33 น.

คณะอนุ กมธ. คนพิการฯ วุฒิสภา จัดประชุม “เสียงจากดาวน์”

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส  กล่าวภายหลังการจัดเวทีประชุม “เสียงจากดาวน์” รับฟังเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนกลุ่มดาวน์ซินโดรม ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนกลุ่มนี้ รวมถึงปัญหา ข้อจำกัด เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาว่า นอกเหนือไปจากการดูแลด้านสุขภาพ การฝึกฝน และส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ โดยความร่วมมือของทีมแพทย์และผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกแล้ว ก้าวสำคัญที่จะเป็นใบบุกเบิกและเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ คือ การศึกษา

 

แต่ปัญหาสำคัญที่พบและเป็นมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันคือ การขาดแคลนสถานศึกษารองรับ และเงื่อนไขการรับเข้าเรียนที่เข้มงวดเกินไป อีกทั้งต้องมีบัตรคนพิการเพื่อเข้าศึกษาต่อ ตลอดจนข้อกำหนดที่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ทำให้เด็กหลายคนเข้าไม่ถึงการศึกษา และถึงแม้จะระบบการเรียนร่วมแต่จำนวนที่รองรับก็ยังจำกัดมาก หากเด็กพิเศษเหล่านี้เข้าไปเรียนในโรงเรียนปกติจะได้รับการพัฒนาแบบเต็มศักยภาพ ด้านเด็กทั่วไปก็จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนที่มีความแตกต่างกันด้วย

 

 

จากสถานการณ์ด้านข้อมูลคนพิการในไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการ 4.19 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ประมาณ 2.2 ล้านคน (ข้อมูลกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน จำเป็นต้องเร่งแก้ไขข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ

 

โดยเฉพาะประเด็นของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มผู้พิการ ที่ยังคงเป็นปัญหาทางสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะเดียวกันก็ยังพบว่า มีคนพิการจำนวนไม่น้อยไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา และมีจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการศึกษา การส่งเสริมให้คนพิการไทยได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพราะการศึกษาถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม และเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพ ต่อยอดและสนับสนุนโอกาสในการประกอบอาชีพ การทำงาน การดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในสังคม

 

“กฎระเบียบข้อใดที่เป็นข้อจำกัดในเงื่อนไขการรับเด็กพิเศษเข้าสู่ระบบการศึกษา ควรได้รับการปลดล็อค เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ถ้าทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาก็จะทำให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น”

 

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ จะเดินหน้าผลักดันการเพิ่มโอกาสในด้านการจ้างงาน เพื่อส่งเสริมสิทธิด้านอาชีพของคนพิการ ภายใต้มาตรการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 33 มาตรา 34 และ มาตรา 35 และควรมีการปรับสัดส่วนรับคนพิการเข้าทำงานจากเดิม 100:1คน เป็นการจ้างงาน 100:2 คน หรือ 50:1 คน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนพิการทั้งหมดในประเทศ ยังคงมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงงานที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐ

 

“การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง หากเราสามารถเปิดโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม คนพิการก็จะมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ จะทำให้สังคมเติบโตไปพร้อมกับความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง”

       

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com    และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

หน้าแรก » การศึกษา