วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 23:02 น.

การตลาด

แพทย์ มช. ห่วงชาวบ้านพื้นที่ไฟป่า จ.เชียงใหม่ เสี่ยงโรคร้ายแรง

วันจันทร์ ที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2564, 07.24 น.
แพทย์ มช. ห่วงชาวบ้านพื้นที่ไฟป่า จ.เชียงใหม่ เสี่ยงโรคร้ายแรง
 
 
แพทย์ มช. ห่วงชาวบ้านพื้นที่ไฟป่าจ.เชียงใหม่เสี่ยงโรคร้ายแรง PM 2.5 พุ่งเกิน 320 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
 
 
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมจัดตั้ง Chiang Mai Air Quality Health Index พบว่าในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สภาพอากาศช่วงที่เกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่จ.เชียงใหม่ มีค่า PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นอยู่ในระดับสีแดงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ โดยในพื้นที่ภาคเหนือ พบค่าระหว่าง 40 - 320 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบว่าหลายพื้นที่ในจ.เชียงใหม่ได้รับผล
กระทบ PM2.5 จากเหตุไฟป่า โดยเหตุการณ์ไฟป่าล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 ที่ อ.สะเมิง วัด ได้ 179ไมรโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในระยะยาวอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพอากาศในเว็บไซต์ AirVisual เผยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ ชี้ให้เห็นว่าสภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ มีปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 มากเกินค่ามาตรฐาน บางวันค่าฝุ่นละอองมลพิษในอากาศแย่เป็นอันดับที่ 1 ของโลก
 
จากปัญหาหมอกควันที่รุนแรง สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายสถาบันการศึกษาภาคเหนือ 10 สถาบัน จัดอบรมให้ความรู้เรื่องปัญหาหมอกควัน แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับอาสาสมัครดับไฟป่าในต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน 50 คน ในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำภาคเหนือ โดยมี รศ.นพ.ณัฐพงษ์ โฆษะชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายถึงสาเหตุการเกิดหมอกควันและอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้ตั้งแต่ต้นเหตุ สามารถดูแลตนเองและในขณะเดียวกันก็สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้ ที่สถานีควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ เมื่อ 31 มี.ค.64
 
โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” เป็น 1 ใน 4 ภารกิจ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ตอกย้ำเป้าหมายการดำเนินงานของ สิงห์อาสา เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี เป็นภารกิจที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งปัญหาไฟป่าเป็นต้นเหตุของการทำลายป่าต้นน้ำ ทำให้ป่าต้นน้ำขาดความชุ่มชื้น และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดจากไฟป่า คือ วิกฤตหมอกควันรุนแรง กลายเป็นฝุ่น PM 2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยสาเหตุหลักของไฟป่านั้นเกิดจากมนุษย์ อาทิ การลักลอบเผาป่า การรุกป่าทำแปลงเกษตรและปศุสัตว์ เป็นต้น โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” จึงจัดอบรมให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างกับสุขภาพของประชาชน พร้อมแนะวิธีดูแลสุขภาพของตนเอง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อเกิดเหตุ ให้กับชาวบ้านจาก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง
 
 
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ประจำวิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า พื้นที่จ.เชียงใหม่และภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะเฉียบพลัน และระยะยาว เช่น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ มีโรคประจำตัว กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ รวมถึงทารกในครรภ์ นับว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับผลกระทบในระยะเฉียบพลัน ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกระทันหัน ด้านผลกระทบระยะยาวจะเห็นได้ว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยก็จะป่วยสะสมเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคความดัน โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ เป็นต้น โดยประชาชนสามารถดูดัชนีคุณภาพอากาศ งดกิจกรรมกลางแจ้ง และสังเกตอาการเบื้องต้น ถ้าอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดจะได้กลิ่น แต่ถ้าอยู่ไกลสามารถสังเกตอาการได้จากอาการเวียนศรีษะ แสบจมูก คอแห้ง อ่อนเพลีย ระคายเคืองตาและผิวหนัง ซึ่งอาจสะสมจนก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดเรื้อรัง หรือ โรคมะเร็งปอดได้
 
รศ.นพ.ณัฐพงษ์ โฆษะชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ครั้งนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้มาร่วมบรรยายเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรมนี้คือ ชุมชนเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งทุกคนและทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ เช่น การดูแลป่าต้นน้ำ การเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อลดปัญหาหมอกควัน กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันในวงกว้างเพื่อให้เกิดการตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นและให้ทุกคนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
 
 
 
นอกจากการจัดอบรมให้ความรู้ปัญหาหมอกควัน โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อดูแลรักษาป่าต้นน้ำในภาคเหนืออย่างครบวงจร ได้แก่ การทำแนวกันไฟป่า พร้อมจัดอบรมให้ความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาไฟป่า การทำฝายชะลอน้ำรักษาความชุ่มชื้นป่าต้นน้ำ การร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ 10 สถาบันจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังไฟป่า การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่า เช่น มอบเครื่องมือทำแนวกันไฟที่ได้มาตรฐาน รองเท้าเซฟตี้ รวมทั้งสนับสนุนอาหาร-น้ำดื่มอีกด้วย
 
ทั้งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา ในปีนี้ได้ทำโครงการเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยจับมือกับเครือข่ายสิงห์อาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา, บริษัทในเครือบุญรอดฯทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืนสืบไป

หน้าแรก » การตลาด