วันศุกร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 10:19 น.

การเมือง

ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครอง"ดีแทค"3เดือน

วันศุกร์ ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561, 14.29 น.

ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครอง"ดีแทค"3เดือน
 


เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 14 ก.ย.2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีระหว่างบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ลูกค้าดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (มาตรการเยียวยาฯ)ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ โดยศาลมีคำสั่งคุ้มครองลูกค้าดีแทคไปถึงวันที่ 15 ธ.ค. หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยว่า ประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวฯ มีความมุ่งหมายประการสำคัญที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด อันเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้ผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่ให้บริการต่อไปได้เป็นการชั่วคราว กสทช. จึงไม่อาจอ้างกรณีที่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มาใช้เป็นเหตุผลที่จะไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการคุ้มครองตามประกาศดังกล่าว มติของ กสทช. จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
          


อีกทั้งถึงแม้ผู้ใช้บริการที่ยังไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายได้จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่ก็ต้องฟังว่า ผู้ใช้บริการดังกล่าวอาจเป็นผู้เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ที่ต้องติดต่อสื่อสารกรณีเร่งด่วน หรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งคลื่น 850 MHz สามารถใช้ได้ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หากดีแทคไม่สามารถให้บริการได้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง นอกจากนี้ การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช. จะมีผลให้ดีแทคสามารถให้บริการในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดสัมปทานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้ กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ใหม่ และดีแทคมีหน้าที่ชำระค่าใช้คลื่นความถี่ในช่วงเวลาดังกล่าว การทุเลาการบังคับตามมติกสทช. จึงไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ  จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับได้ และเห็นว่าผู้ใช้บริการที่ยังไม่สามารถโอนย้ายได้มีประมาณ 90,000 ราย จึงควรกำหนดระยะเวลาทุเลาการบังคับตามมติของกสทช. ไว้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561
          


ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของกสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่กำหนดเงื่อนไขว่า หากดีแทคไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2561 โดยให้ดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศดังกล่าว จึงให้ทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 


ดีแทค-CATลงนามธุรกิจอุปกรณ์โทรคมนาคม

 

ขณะที่นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ลงนามครั้งประวัติศาสตร์ในวงการโทรคมนาคมร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับบริการเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์โทรคมนาคมระยะยาว กระชับความเป็น พันธมิตรทางธุรกิจ หมดความเสี่ยงและทำให้ใช้งานเสาโทรคมนาคม ช่วยให้ลูกค้าดีแทคใช้งานต่อเนื่อง ส่วน CAT ได้ต่อยอดธุรกิจสู่แหล่งรายได้ใหม่ โดยรายละเอียดของลงนามมีดังนี้
          


1. สัญญาระงับข้อพิพาทและให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม 2. สัญญาการขอใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทดีแทคจะทำการโอนเสาโทรคมนาคมที่สร้างไว้ระหว่างสัมปทานให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ใช้บริการเสาโทรคมนาคมดังกล่าวจำนวน 8,815 แห่งทั่วประเทศ โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะชำระค่าขอใช้เสาโทรคมนาคมล่วงหน้า ณ วันลงนามในสัญญาให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนรวม 3.2 พันล้านบาท และจะชำระค่าบริการทั้ง 2 สัญญา มูลค่ารวม 3 พันล้านบาทต่อปี โดยสัญญามีระยะยาวขั้นต้น 8 ปีและสามารถต่ออายุได้อีก
          


ขณะที่พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า การลงนามในสัญญาในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานคลื่นความถี่ที่ร่วมธุรกิจกันมาอย่างยาวนาน จะได้พลิกสู่บทบาทใหม่ในเชิงกลยุทธ์ต่อเนื่อง ซึ่งสัญญาดังกล่าวยังทำให้เสาโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีความสำคัญของประเทศและอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศให้สามารถนำมาใช้โดยเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการให้บริการแก่ประชาชนและการสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรและประเทศในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของชาติ
 

หน้าแรก » การเมือง

Top 5 ข่าวการเมือง