วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 15:13 น.

การเมือง

"เศรษฐพงค์"พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายรับมือยุคดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี

วันจันทร์ ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 18.19 น.

"เศรษฐพงค์"พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายรับมือยุคดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี-ออกกม.เตรียมพร้อมภัยคุกคามไซเบอร์ พร้อมแนะให้ภาคการศึกษาปรับตัว

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562  พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ  ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร  เข้าร่วมงานสัมมนา Cyber Security and Data Privacy 2020” ธุรกรรมปลอดภัย ประชาชนมั่นใจข้อมูลไม่รั่ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กมธ.ดีอีเอส สภาผู้แทนราษฎร , คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และ นิตยสาร ซีไอโอ เวิล์ด แอนด์ บิสสิเนส  

ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ในฐานะผู้ที่วิเคราะห์และติดตาม​ตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในตำแหน่งประธานอนุกมธ.ฯ ชุดที่เกี่ยวข้อง ขึ้นเวทีเพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่า ตั้งแต่ปี 2015 - 2020 จะพบการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะภาคการศึกษา ที่ไม่สามารถสอนคนในห้องเรียนให้เรียนเป็นแบบเดียวกันเหมือนสมัยก่อนได้ เนื่องจากการรับคนเข้าทำงานจะไม่ใช้ใบปริญญาบัตรเป็นเครื่องวัดเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะพิจารณารับคนจากทักษะพิเศษ หรือ สามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ยุคของดิสรัปชั่น หรือ เรียกว่ายุคโลกป่วน เนื่องจากมีวการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างมากและรวดเร็ว เพราะในอนาคตเชื่อว่าในเรื่องของเทคโนโลยีพลิกโลกจะซับซ้อนและน่าสนใจมากกว่านี้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งเตรียมคนให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ และการเตรียมพร้อมสำหรับอาชญากรรมไซเบอร์ที่จะต้องตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  "การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มาจากเทคโนโลยี และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และการเชื่อมต่อด้วย 5 จี ซึ่งสามารถช่วยยกระดับศักยภาพในหลายๆ ด้าน เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ การศึกษา ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมมีภัยคุกคามที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาระบบสื่อสาร รวมถึงระบบโทรคมนาคม จำเป็นต้องควบคู่กับการพัฒนาระบบการป้องกันภัยคุกคาม หรือโจมตีทางไซเบอร์ เช่น จะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมกำกับดูแล แต่พบว่ากฎหมายเกิดขึ้นหลังจากภัยคุกคามเกิดขึ้น ดังนั้นจะต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ รวมถึงระบบอัตโนมัติ หรือ แมชชีนเลินนิ่ง จะมีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้น ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเทคโนโลยี ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยไซเบอร์ร่วมด้วย โดยกมธ.ดีอีเอส ของสภาฯ มุ่งมั่นทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมมั่นใจว่าจะทำงานเพื่อประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย”พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

หน้าแรก » การเมือง