วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 23:49 น.

การเมือง

แห่ประณามสลายชุมนุมแยกปทุมวันไม่เป็นไปตามหลักสากล

วันเสาร์ ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 10.54 น.

ผู้แทนนิสิตนักศึกษา 7 มหาวิทยาลัย ประณามสลายชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล ขณะที่สภาเด็กและเยาวชนฯแถลงเรียกร้องยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ส่วน "สมชัย" งัดหลักยูเอ็นประณามสลายม็อบขัดหลักสากลเช่นกัน และสิทธิมนุษยชนแห่ง "สหประชาชาติ" กังวลเกี่ยวกับการคุมตัวผู้ชุมนุมในไทย

วันที่ 17 ต.ค. 2563 มีแถลงการณ์จาก สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล, สภานิสิต องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภานิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง ประณามการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ต.ค. 2563 บริเวณแยกปทุมวัน และบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า   

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมประชาชน โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักและใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาความสงบในบริเวณดังกล่าวเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักสากลและหลักมนุษยธรรมในการควบคุมฝูงชนและการปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุม  แต่ปรากฏว่า  มิได้เป็นไปตามหลักสากลในการควบคุมฝูงชนตามหลักสากลแต่อย่างใด มีการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีแรงดันสูงเพื่อขอคืนพื้นที่ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมากเกิดอาการระคายเคืองผิวหนังและดวงตา  

ผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่ง จึงขอประณามการสลายการชุมนุมอันไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้น การสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกในสังคมแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นอีกจำนวนมาก
          
ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่ง จึงขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ให้ปฏิบัติตามหลักสากลและหลักมนุษยธรรมในการควบคุมฝูงชน ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็น และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม เพื่อให้ประเทศไทยมีความสงบสันติตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป 

สภานิสิต"มจร" แถลงการณ์ ไม่สนับสนุนความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน
 
สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ส่วนกลาง) แถลงการณ์เรื่อง การใช้ความรุนแรงกับเยาวชน นิสิต นักศึกษาและประชาชน
          
โดยระบุว่า สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักว่า "การกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ควรเกิดขึ้น" พร้อมทั้งขอให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยปราศจากการเบียดเบียน ภายใต้ การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

สภาเด็กและเยาวชนฯแถลงเรียกร้องยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน
 
สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในสถานการณ์การชุมนุม ระบุว่า เนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นเด็กและเยาวชนบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มมาตรการสลายการชุมนุม ได้มีการฉีดน้ำและน้ำสีฟ้าใส่ผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุมสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีความกังวลว่าการแก้ไขปัญหาโดยการการสลายการชุมนุม ที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญนั้น ทำให้ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมในครั้งนี้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

อีกทั้งทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะ ที่มีการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน อาจทำให้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษจากนานาชาติ ในเรื่องของการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในสถานการณ์ชุมนุมสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการกระทำต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในครั้งนี้ ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ

"สมชัย"งัดหลักยูเอ็นประณามสลายม็อบขัดหลักสากล

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

การสลายการชุมนุม 16 ตุลา ไม่เป็นไปตามหลักสากล
          
นายกรัฐมนตรี ผบ.ตำรวจนครบาล กล่าวว่า การสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล สิ่งที่กล่าวถูกต้องจริงหรือไม่
          
1. UN Congress ได้มีการรับรอง “หลักในการจัดการการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (Policing Unlawful Assemblies) ในการประชุมครั้งที่ 8 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 7 กันยายน 2533 มีหลักการในข้อที่ 12-15 คือ
          
“ถ้าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง (Unlawful but non-violent) เจ้าหน้าที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง (use of force) หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ ให้ใช้กำลังเท่าที่จำเป็น”
          
2. การชุมนุมในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 แม้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่มีการขออนุญาต กีดขวางทางจราจร ขัด พรก.ฉุกเฉิน) แต่ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง (Non-violent) เพราะผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่มีเจตนาบุกเข้าไปยึดหรือทำลายสถานที่ หลีกเลี่ยงการปะทะ (โดยย้ายสถานที่ชุมนุมจากราชประสงค์มาปทุมวัน) และแสดงเจตนาชัดเจนว่าจะสลายการชุมนุมในเวลา 22.00 น.
          
3. ในการชุมนุม ยังมีเด็ก เยาวชน นักเรียน จำนวนมาก ที่ผู้สลายการชุมนุมต้องพิจารณาถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ หากเกิดการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการฉีดน้ำผสมสารเคมี และ กองกำลังปราบจลาจล
          
4. การปิดสถานีรถไฟฟ้า ในบริเวณใกล้สถานที่ชุมนุม ถึง 5 สถานี คือ ราชเทวี สนามกีฬา สยาม ชิดลม ราชดำริ เป็นการทำให้ผู้ชุมนุมที่ประสงค์เดินทางกลับ ไม่สามารถใช้ขนส่งสาธารณะดังกล่าวโดยสะดวกได้
          
5. การห้าม รถพยาบาล เข้าไปในสถานที่ชุมนุมนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า การทำสงคราม เพราะในภาวะสงครามหน่วยรักษาพยาบาลที่ติดเครื่องหมายกาชาด ยังสามารถส่งบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้เข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ ตามการรับรองตามความแห่งอนุสัญญาเจนีวา ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492
          
การชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังและวิธีการที่เกินความจำเป็น และเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะยิ่งมีเด็ก เยาวชน นักเรียน อยู่ในสถานที่ชุมนุม ย่อมเป็นการยิ่งต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ มิใช่ยึดถือเพียงแค่ “นายสั่งมา”เท่านั้น
          
ขอประณามการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมที่เกินขอบเขตและขัดกับหลักปฏิบัติที่เป็นสากล
          สมชัย ศรีสุทธิยากร
          17 ตุลาคม 2563

สิทธิมนุษยชนแห่ง "สหประชาชาติ" กังวลเกี่ยวกับการคุมตัวผู้ชุมนุมในไทย

ราวินา แชมดาซานิ OHCHR แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองในไทย และขอให้รัฐบาลดูแลผู้ถูกจับกุมให้สามารถตัวเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา
          
เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ ซึ่งมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในกรอบการพัฒนาระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573
          
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ตามเวลาที่เมืองเจนีวา “ราวินา แชมดาซานิ” โฆษกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) แถลงการกล่าวย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ชุมนุมครั้งใหญ่ในประเทศไทย
          
“แชมดาซานิ” กล่าวว่า เรามีความกังวลเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯของรัฐบาลไทย อันเป็นผลมาจากการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ส่งผลเสียต่อการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่รับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นภาคีสมาชิก
          
นอกจากนั้น ยังกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและจับกุมนักเคลื่อนไหวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคน ซึ่งตัวเลขที่เรามีตอนนี้คือ 57 คนถูกจับกุมระหว่างวันที่ 13 ถึง 16 ตุลาคม 2563 และ 6 คนได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือยังอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
          
“อย่างไรก็ตาม การกระทำใด ๆ ของรัฐบาลต้องให้ความมั่นใจว่าเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองทางตุลาการต้องมีจัดเตรียมไว้อย่างเป็นระบบสำหรับทุกคนที่ถูกจับกุมตัว รวมถึงให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทนายความและครอบครัวได้ตลอดเวลา”

"หมอเอ้ก"ไม่เห็นด้วยการใช้ความรุนแรง แนะเปิดพื้นที่พูดคุย

นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอเอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง พร้อมเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ในการพูดคุย และยื่นร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนคุ้มครองเป็นการฉุกเฉิน เพราะการออกข้อกำหนดบางส่วนได้กระทบต่อสิทธิที่ได้มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า

          เราไม่ควรใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะคิดเห็นตรงกันหรือไม่ก็ตาม เพราะความรุนแรงมีแต่จะทำให้ปัญหานั้นร้าวลึกลงไปมากขึ้น

          สิ่งที่ทำได้และควรทำอย่างเร่งด่วนขณะนี้ที่เป็นรูปธรรม คือ
          1. เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเป็นการเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ในการพูดคุย
          2. ยื่นร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนคุ้มครองเป็นการฉุกเฉิน เพราะ การออกข้อกำหนดบางส่วนได้กระทบต่อสิทธิ ที่ได้มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
          (เคยมีการวินิจฉัยในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยศาลแพ่ง คดีดำ หมายเลข 275/2557
          "การออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นแม้ว่าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจดำเนินการได้แต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค รวมทั้งการดำเนินการใดๆ ของฝ่ายบริหารจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักดังกล่าวมีความสำคัญศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" 

ม็อบนัดเตรียมความพร้อมที่สถานีรถไฟฟ้า บ่าย 3 โมง แต่ยังไม่บอกสถานที่
  
เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โพสต์ยืนยันจะจัดชุมนุมต่อในวันที่ 17 ต.ค.2563 ต่อให้รัฐบาลจะจับกุมแกนนำไปจนหมด แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วง 2 วันนี้ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แกนนำที่แท้จริงคือประชาชน มิใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง
          
จากนี้จะไม่มีคณะราษฎร จะมีเพียงราษฎรเท่านั้น ขอย้ำว่าทุกคนคือแกนนำ และขอทุกคนออกมารวมตัววันนี้เวลา 16.00 น. ขอให้ติดตามรายละเอียดของสถานที่อย่างใกล้ชิด
          
พร้อมกันนี้ ขอประณามทุกการกระทำที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และขอประณามทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
          
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความ ขอให้ทุกคนเตรียมตัวประจำการได้ที่สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง ภายในเวลา 15:00 น. แต่ยังไม่แจ้งจุดหมายที่แน่ชัด

หน้าแรก » การเมือง