วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 19:41 น.

การเมือง

มหาจุฬาฯขับเคลื่อน RJพุทธสันติวิธี ยกพระพุทธเจ้าต้นแบบผู้ให้อภัยทาน

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564, 20.47 น.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่  ๒๓  กันยายน  ๒๕๖๔  พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร.อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน  มจร  เปิดเผยว่า ส่วนงานหลักสูตรระยะสั้นสันตินวัตกรรมหลักสูตรสันติศึกษา  ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร  ร่วมกับหลักสูตรสันติศึกษา มจร พร้อมภาคีเครือข่าย จัดเวทีสันติสนทนา “ถอดรหัสความขัดแย้งและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก”

โดยได้รับความเมตตาจากพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปาฐกถาเรื่อง “อภัยทานการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ผ่านกระบวนการขอโทษ ขอขมา อโหสิกรรม” กล่าวประเด็นสำคัญว่า วันสันติภาพเป็นวันแห่งการให้อภัยเป็นการให้ความไม่กลัว การอภัยจึงต้องให้ทุกวินาที ซึ่งในสถานการณ์โลกมีความหวาดกลัวเกิดขึ้นมากมายโดยแต่ละฝ่ายกลัวกัน สร้างความกลัวต่อกันแต่พระพุทธเจ้าพยายามมุ่งเน้นให้ความไม่กลัวด้วยการให้อภัย  ซึ่งในพระไตรปิฎกมีคำว่าอภัยทานแสดงว่าพระพุทธเจ้ามีการให้อภัย ประเด็นการให้อภัยจึงมีความยิ่งใหญ่ ซึ่งโลกเรามีความหวาดกลัว จึงเป็นกระบวนการโดยเจตนาและสมัครใจที่ผู้อาจรู้สึกว่าตกเป็นเหยื่อในตอนแรกได้รับการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกและทัศนคติเกี่ยวกับความผิดที่ได้รับและเอาชนะอารมณ์เชิงลบ เช่น ความไม่พอใจและการแก้แค้น เป็นการพูดถึงการแก้แค้นเพราะมีการใช้ความรุนแรงทางตรงและทางอ้อม รวมถึงความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ จึงพยายามใช้คำว่า forgive to forget  

จึงใช้คำว่า give get ทำให้เรารับอิสรภาพในก้าวย่างต่อไป  จึงมีคำกล่าวว่า อภัยในสิ่งที่ทำร้ายคุณ ลืมสิ่งที่ทำร้ายคุณ อะไรที่ฝังลึกภายใน แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะสอนเราให้เติบโตเพื่อการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่อไป ความหมายของการให้อภัยในทางจิตวิทยาเป็นการปลดโซ่ตรวนแห่งความเกลียดชังเพื่อค้นพบอิสรภาพในใจตน ในการถูกกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม เราพยายามขังความเกลียดชังภายในคุกเหมือนเนลสัน และ พระเจ้าพิมพิสาร แต่สุดท้ายให้อภัยของกระทำความรุนแรง และการให้อภัยทางสังคม ซึ่งทุกคนมีความผิดพลาดได้ ผู้ชนะยิ่งใหญ่แต่ผู้แพ้เป็นไพร่ หน้าที่ของการให้อภัยเป็นเทวดา การเกลียดชังในสังคมนำไปสู่การกรรมหมู่ ใจเกลียดชังอยู่ในความรุนแรง 

อภัยทานเป็นการให้ความไม่มีภัย การให้อภัยมีพื้นฐานจากเมตตากรุณาโดยมีสติ เพราะให้อภัยตนเองไม่ได้อย่าหวังว่าจะให้คนอื่น  เหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ พระเจ้าอชาตศัตรู ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทำให้พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ชนะย่อมก่อเวรผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ จะต้องเอาชนะความพ่ายแพ้และความชนะ” แม้แต่พระเจ้าอชาติศัตรูพระพุทธเจ้าให้อภัย คำว่าคือให้อภัยใคร Who จึงต้องเริ่มต้นให้อภัยตนเองด้วยการบอกใจของตนเองอย่างไปกลัว  What ให้อะไรคือ ให้อิสรภาพกับตนเอง ปล่อยนกแห่งความเกลียดชัง  When เมื่อไหร่จะให้อภัยซึ่งจะต้องให้อภัยทุกเวลา  Where ให้อภัยที่ใด ให้อภัยที่ใจ  Why ทำไมต้องให้อภัยเพราะเป็นการเริ่มต้นใหม่  How ให้อภัยอย่างไร คำตอบคือ สติ เพราะสติจึงเป็นตัวทำคลอดของการให้อภัย ซึ่งพระพุทธเจ้าให้อภัยกับพระเทวทัตโดยไร้เงื่อนไข ซึ่งเหตุผลของการไม่ให้อภัย ประกอบด้วย ๑)อภัยทานเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ๒)อภัยทานเป็นการแสดงความอ่อนแอ ๓)อภัยทานเป็นการสูญเสีย  ๔)อภัยทานนำมาซึ่งความหวาดกลัว
๕)อภัยทานคือการบอกให้ลืม

ลักษณะของการให้อภัยจะต้องกระทำทางความคิด ทางวาจา ทางใจ  จึงนำไปสู่กับดักในการไม่ให้อภัย พยายาม “สร้างเงื่อนไข” ยากๆ เพราะไม่อยากฟื้นคืนดี ทำอย่างไรจะสร้างเงื่อนไขง่ายๆ เพื่อการให้อภัย และพยายาม “มองจุดยืน” ของตนเองมากเกินไปถือว่าเป็นอัตตาของตนเอง จงอย่าถามทำไมแต่จึงถามว่าทำอย่างไรเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริง โดยการให้อภัยเป็นการสร้างบารมีอันยิ่งใหญ่เป็นการถอดสลักความทุกข์ภายในใจ  โดยการให้อภัยไม่ใช่การสูญเสียแต่เป็นสิ่งที่ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด  

พร้อมยังได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันการศึกษาและการพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี  บรรยายหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานาฉันท์: RJ เชิงพุทธสันติวิธีเพื่อการเยียวยาฟื้นฟูสู่สังคม” ถ่ายทอดแนวคิดทฤษฎีประสบการณ์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างลึกซึ้ง เพราะยุติธรรมกระแสหลักไม่ได้ให้อภัย ไม่ได้ใช้กระบวนการขอโทษหรือฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่กระบวนการแบบ RJ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เกิดการทำผิดอีกครั้ง เป็นการมุ่งการขอโทษ สำนึกผิดจากใจ การให้อภัย ฟื้นฟูความสัมพันธ์ สังคมรับรู้ กลับคืนสู่ชุมชน เพราะครอบครัวเด็กเยาวชนจะเติบโตได้ดีกว่าการกักขัง เป็นการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เพราะผู้มีความขัดแย้งย่อมมีกรรมต่อกัน จึงต้องขอโทษจากใจจริงๆ มีการเยียวยาความเจ็บปวด    
 
จึงมีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.๒๕๖๒ ใน ๖ หมวด ๗๒ มาตรา กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มุ่งการฟื้นฟู ผู้ถูกกระทำ หรือ ผู้เสียหาย คืนสู่สภาพปกติ ด้วยการให้โอกาสผู้กระทำ   ได้สำนึก ขอโทษ พร้อมชดใช้เยียวยาค่าเสียหาย มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล เหยื่อไม่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการยุติธรรม  จึงมีการเกิดของยุติธรรมชุมชน เป็นกระบวนการที่กระทำในชุมชนระดับรากหญ้า ชุมชนต้องมีส่วนร่วมร่วมหรือเป็นหุ้นส่วน ทำให้สะท้อนถึง การเยียวยา: Remedy การเยียวยาอย่างเป็นผล การชดเชย คือ“กลับคืนสู่สภาพเดิม สินไหมทดแทน บำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก” 

ในภาคบ่ายมีการสันติสนทนาหัวข้อ “ถอดรหัสความขัดแย้งและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก” โดยมอง ๑)มองความขัดแย้งในพระไตรปิฎก  ๒)สาเหตุความขัดแย้งในพระไตรปิฎก ๓)ความขัดแย้งมีกี่ประเภทในพระไตรปิฎก ๔)วิธีการจัดการความขัดแย้งในพระไตรปิฎกมีกี่วิธี ๕)เหตุการณ์ความขัดแย้งในพระไตรปิฎกมีวิธีการแก้ไขอย่างไร  ๖)มองการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก  ๗)หลักการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก  ๘)วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก  ๙)ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก  ๑๐)ปัจจัยที่ทำให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประสบความสำเร็จในพระไตรปิฎก  ๑๑)บุคคลต้นแบบในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพระไตรปิฎก  ๑๒)มองเหตุการณ์ไกล่เกลี่ยในพระไตรปิฎกว่ามีวิธีการแก้ไขอย่างไรโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎก  สรุปกระบวนการเรียนรู้ โดย ดร.จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร  ประธานรุ่น 3 หลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตาม พ.ร.บ. 2562  โค้ช, นักออกแบบการ  เรียนรู้และวิทยากรกระบวนการพัฒนาฝึกอบรม และคณะกรรมการทำงานการวิจัย  

ดังนั้น การให้อภัยศัตรูเป็นความยิ่งใหญ่ จงให้ความไม่กลัวต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยการลดเงื่อนไขชีวิตให้ง่าย เพราะผู้อ่อนแอให้อภัยใครไม่ได้ ทำให้พระพุทธเจ้าต้นแบบบุคคลให้อภัยทานอย่างแท้จริง เป็นการปลดโซ่ตรวนแห่งความเกลียดชังและความเจ็บปวด จึงต้องอาศัยกระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ผ่านกระบวนการRJพุทธสันติวิธี เพราะความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่ข้อจำกัดความเจ็บปวด ทำให้คิดวิธีการล้างแค้นเชิงสร้างสรรค์โดยใช้กระบวนการของรัฐเป็นเครื่องมือ ด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบหลักแบบฟ้องร้อง  แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยนับว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ดี เพราะฟื้นฟูความสัมพันธ์และช่วยเหลือเยียวยาในมิติของความยุติธรรม

หน้าแรก » การเมือง