วันอังคาร ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 03:17 น.

การเมือง

"ประภัตร" ดึง "มหานิยม" ร่วมสานฝันสร้างอาชีพคนอุดรฯ ยันไม่ได้นิ่งเฉยแก้ไขปัญหาระบาดโรคหมู ASF

วันพฤหัสบดี ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565, 14.50 น.

"ประภัตร" ห่วงใยผู้เลี้ยงสุกร ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉยในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค ASF และราคาเนื้อสุกรมีราคาแพง มอบกรมปศุสัตว์ หากพบเชื้อที่ฟาร์มไหน ให้เข้าควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการทันที

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ณ หอประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทยร่วมด้วยว่า จากสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรที่มีราคาแพง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสกัดกั้นและควบคุมโรคดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลาง จำนวน 574 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามหลักและขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ให้กับผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อย และได้กำหนดมาตรการการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น 

นอกจากนี้ ในส่วนของการแก้ไขเนื้อสุกรมีราคาแพง ซึ่งจากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์ พบว่า ในปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ปัจจุบัน (ข้อมูลสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2565) มีจำนวนลูกสุกรเข้าเลี้ยงยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ยังได้เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และระยะยาวนั้น จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้แน่นอน 

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ทราบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องมีการสแกนพื้นที่เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงต่อพี่น้องเกษตรกรอยู่หรือไม่ จากนั้นจะมีการคัดกรองตัวเกษตรกร พร้อมกับตรวจสอบสภาพความพร้อมและความเหมาะสมของฟาร์มในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัย ด้านการควบคุมโรคที่สูงขึ้น เช่น GFM หรือ GAP กรมปศุสัตว์จึงจะสามารถอนุญาตให้เกษตรกรกลับเข้าสู่อาชีพในครั้งต่อไปได้ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า จากจำนวนผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อย ทั้งประเทศ มีรวมกันถึงกว่า 185,000 ราย โดยในภาคอีสานนี้มีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยถึงประมาณ 77,000 ราย อีกทั้งยังมีค่าเฉลี่ยของอัตราการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 20 - 22 กิโลกรัม/คน/ปี ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรที่มีความสนใจ โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร หรืออาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่มีเมนูทางเลือกให้กับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ทั้งเมนูอาชีพด้านปศุสัตว์ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน สุกรขุน ไก่ไข่ จิ้งหรีด เป็ดไข่ และแพะขุน เมนูอาชีพด้านพืช สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกฟักทอง ฟักเขียว กระชายขาว และข้าวโพด และเมนูอาชีพด้านประมง สนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาทับทิม ปลาดุก และกุ้ง 

ทั้งนี้ หากเกษตรที่สนใจ สามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกูสูงสุดรายละไม่เกิน จำนวน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละราย 

"รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในระยะที่ผ่านมานั้น หลัก ๆ แล้วเป็นค่าชดเชยเพื่อทำลายสุกรแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขั้นตอนของการดำเนินการ กรมปศุสัตว์จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่เพื่อประเมินค่าความเสียหายและค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรทุกราย สำหรับกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางราย ได้มีการทำลายสุกรไปแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไม่ได้สั่งนั้น ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จะขอรับเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าจะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องการระบาดของโรค AFS นี้ แต่การออกมาพูดนั้นจะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้ เมื่อมีการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อที่ฟาร์มไหน กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการ และจะต้องมีการพักคอกแล้วหยุดเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการตรวจสอบหรือประเมินความเสี่ยงแล้วว่ามีความปลอดภัย จึงจะสามารถลงเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) และคณะกรรมการพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ก็ตาม แต่จะช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและทันท่วงที พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพคู่ขนานอื่นให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป" นายประภัตร กล่าว

หน้าแรก » การเมือง