วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:55 น.

การเมือง

กรมชลฯ พร้อมรับมือฝนตกภาคใต้ตอนล่าง เร่งสำรวจอาคารและระบบชลประทานทั่วประเทศ

วันอาทิตย์ ที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 16.05 น.

กรมชลฯ พร้อมรับมือฝนตกภาคใต้ตอนล่าง เร่งสำรวจอาคารและระบบชลประทานทั่วประเทศ หลังสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมเร่งซ่อมแซมอาคารและระบบชลประทาน

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565  นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 (จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล) ภาพรวมในปี 2565 นี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 27% ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่จ.สงขลา ได้แก่ พื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ ชุมชนริมคลองธรรมชาติ อ.หาดใหญ่ และบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ  จ.พัทลุง ได้แก่ อ.ศรีบรรพต อ.เขาชัยสน และบริเวณขอบทะเลสาบ อ.เมือง จ.ตรัง ได้แก่ อ.เมือง ตลาดนาโยง อ.นาโยง และตลาดเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว 

จ.สตูล ได้แก่ อ.เมือง และ อ.ละงู 

นอกจากนั้นยังได้กำชับให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เป็นต้น รวม 247 หน่วย ที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและลดผลกระทบสถานการณ์อุทกภัยได้ทันท่วงที ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงแล้วรวม 36 เครื่อง จากแผน 128 เครื่อง ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก รวมไปถึงการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

ขณะเดียวกัน ยังได้วางแผนปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่ ที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและพื้นที่ชลประทานได้มากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งสามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายประพิศ บอกด้วยว่าปัจจุบันระดับน้ำที่ล้นตลิ่งในหลายพื้นที่เริ่มทยอยกลับเข้าสู่ลำน้ำแล้ว ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทยอยคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งเข้าไปสำรวจอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำต่างๆหลังน้ำลด เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซม ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ยังมีน้ำท่วมขัง ได้เร่งดำเนินการสูบน้ำของจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยจะคงปริมาณน้ำไว้ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตามความต้องการของเกษตรกร สำหรับไว้ใช้เพาะปลูกพืชต่อไปด้วย
 

หน้าแรก » การเมือง