วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 09:51 น.

การเมือง

"แพทองธาร" ร่วมประชุม ครม.เมินตอบปมเขมรเคลม 22 วรรณกรรมไทย

วันอังคาร ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 10.40 น.

เมื่อวันที่ 15  กรกฎาคม 2568   ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.วัฒนธรรม เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขึ้นตึกไทยทำภารกิจส่วนตัว เกือบ 20 นาทีจึงเดินมาเข้าประชุมครม. ที่ตึกบัญชาการ 1 นาที

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจน กรณีที่กัมพูชาได้นำวรรณกรรมไทย ขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2551 โดยน.ส.แพทองธาร ยิ้มให้สื่อมวลชน โดยไม่ได้ตอบคำถาม

 นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนบางแห่ง โดยอ้างว่ามีรายชื่อวรรณกรรมไทยหลายรายการถูกนำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับองค์การยูเนสโก โดยประเทศอื่นๆ นั้น กระทรวงฯ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้มอบหมายให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากร กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว

เนื่องจากกระบวนการพิจารณาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ กระทรวงวัฒนธรรม ขอยืนยันว่าหากได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนแล้วจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป

ก่อนหน้านี้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "JanJao K. Sisprakaew" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "นี่คือวรรณกรรมไทย ที่เขมรนำไปสอดไส้ขึ้นทะเบียนต่อ Unesco และได้รับการขึ้นทะเบียนไปเรียบร้อย รายชื่อวรรณกรรมเหล่านี้ถูกแต่งขึ้นโดยชาวไทย แต่ถูกเขมรนำไปขึ้นทะเบียนต่อ Unesco ในหัวข้อ 'มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ Cultural heritage of Cambodia'

วรรณกรรมไทยเหล่านี้ถูกเขมรเคลมเป็นของตนเองเพื่อใช้ในการแสดง Royal Ballet of Cambodia

โดยเขมรอ้างว่ารายชื่อวรรณกรรมเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2545 จากละครเรื่อง 'พระทอง นางนาค' (ละครพื้นบ้านที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 2473) ในสมัยของสมเด็จพระสีสุวัถติ์ มุณีวงศ์

รายชื่อวรรณกรรมตามหัวข้อต่างๆ ที่มีผู้แต่งเป็นคนไทย มีดังนี้

1. ไกรทอง-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 นิทานพื้นบ้าน

2. พระสมุท-พระนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

3. อุณรุท-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 มาจากบทละครในเรื่องอุณรุทสมัยอยุธยาตอนปลาย

4. พระสังข์-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 บทละครนอก

5. พระทิณวงศ์-นิทานพื้นบ้านภาคกลาง จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2458

6. จันทโครพ-ผู้แต่ง สุนทรภู่

7. พระเวสสันดร-ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

8. อิเหนา-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 2 บทละครรำ

9. อนิรุทธกินรี-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 มาจากบทละครเรื่องอุณรุทสมัยอยุธยาตอนปลาย

10. ศุภลักษณ์-มาจากตอนศุภลักษณ์อุ้มสม เรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

11. รามเกียรติ์-พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 และในหลวงรัชกาลที่ 2

14. พระสุธน-มโนราห์-บทละครสมัยอยุธยา มาจากพระสุธนชาดก แต่งเป็นคำฉันท์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาอิศรานุภาพ

15. กากี-คำกลอนวรรณคดี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บทเห่กล่อมพระบรรทม แต่งโดยสุนทรภู่

16. สีดาลุยเพลิง-จากรามเกียรติ์ ตอนสีดาลุยไฟ พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

17. จองถนน-จากรามเกียรติ์ ตอนจองถนน พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 1

20. ทิพสังวาล-หนังสืออ่านเล่นในสมัยรัชกาลที่ 5

22. ลักษณวงศ์-แต่งโดยสุนทรภู่
 

หน้าแรก » การเมือง