การเมือง
"ชวน-ประยุทธ์" ร่วมถกเวทีประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ที่กัมพูชา
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

"ชวน-ประยุทธ์" ร่วมถกเวที "ASEAN - AIPA Leader’s Interface Meeting" ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ที่กัมพูชา ขณะที่นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022 ย้ำ 3 ประเด็นหลัก พัฒนา “ดิจิทัลอาเซียน” สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคที่เข้มแข็ง เชื่อมโยง ครอบคลุมทุกมิติ หารือนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี พร้อมร่วมเดินหน้าแก้ไขปัญหาขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.00 น. ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำอาเซียน และคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN - AIPA Leader’s Interface Meeting) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกจากประเทศสมาชิกรัฐสภาอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ให้เป็นผู้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี และสมเด็จเฮง สัมริน ประธานรัฐสภา ราชอาณาจักรกัมพูชา รวมทั้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ในการนี้ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวขอบคุณฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ส่งเสริมให้เกิดการหารือระหว่างสำนักงานเลขาธิการของทั้งสองฝ่าย ตามที่ตนได้เสนอให้ริเริ่มการหารือดังกล่าวในการประชุมที่ประเทศไทยเมื่อปี 2562 อันเป็นการเน้นย้ำให้เกิดความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างสองสถาบัน นำไปสู่การแก้ปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นายกฯแสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022 ย้ำ 3 ประเด็นหลัก
ทั้งนี้เวลา 14.08 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ค.ศ. 2022 (ASEAN Business and Investment Summit (ABIS) 2022) หัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล (Digital-Ready ASEAN)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งหัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล” เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยและอาเซียนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด – 19 ในภาคธุรกิจ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลในทุกมิติ สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลของอาเซียนเพื่อบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม บูรณาการ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ดังนี้
1. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งควรเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างรอบด้านต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่โปร่งใสและเป็นธรรม การบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัย การพัฒนาทักษะดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงในภาคแรงงานและธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลและการขยายธุรกิจ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั้งในและนอกอาเซียน อาทิ เทคโนโลยีบล็อคเชน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และเกษตรอัจฉริยะ
2. การสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและไร้ร้อยต่อ ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและระบบการชำระเงินดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงของระบบ ASEAN Single Window เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัลและเสริมสร้างการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการ ASEAN Digital Hub เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ และพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศในภูมิภาค การพัฒนาโครงการ Thailand Digital Valley ในพื้นที่ EEC รวมทั้งการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมืองอย่างตรงจุด นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง อะเมซอนเว็ปเซอร์วิส ยังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ส่วนกลางสำหรับหน่วยราชการไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการปฏิรูประบบดิจิทัลของภาครัฐ
3. การสร้างความยั่งยืนและครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs และสตรี นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค โดยไม่ทิ้งกลุ่มใด ๆ ไว้ข้างหลัง ไทยจึงให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลในบุคคลทุกกลุ่ม ทุกระดับ และดึงดูดแรงงานดิจิทัลทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้ามาทำงานในไทย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ลดช่องว่างด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า อาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาเกษตรอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเห็นว่า การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและการเข้าถึงนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศที่ปลอดภัย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยายโอกาสและผลักดันการเติบโตด้านดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนจะเป็นไปแบบรอบด้านระหว่าง 3 เสาของประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อมโยงดิจิทัลที่เข้มแข็ง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมดิจิทัลอาเซียน พร้อมก้าวสู่การบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการเป็น “ดิจิทัลอาเซียน” และทำให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อประโยชน์ของประชาชนสืบต่อไป
อนึ่ง การประชุม ABIS เป็นกิจกรรมประจำปีของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และผู้นำธุรกิจทั้งภายในและภายนอกอาเซียน ซึ่งในปีนี้ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรูปแบบผสม (hybrid) ภายใต้หัวข้อหลัก “Addressing Challenges Together” เน้นประเด็นเรื่องการเผชิญความท้าทาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุข
หารือนายกรัฐมนตรีกัมพูชาย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ทั้งนี้เวลา 11.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา (เวลาเท่ากับประเทศไทย) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องเพื่อกระชับความสัมพันธ์หลังจากผู้นำทั้งสองว่างเว้นจากการพบปะหารือกันมากว่าสามปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อติดตามความคืบหน้าและหารือประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในระดับทวิภาคี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีต่อความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ประธานอาเซียนของกัมพูชาพร้อมขอบคุณที่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะแขกพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรียินดีกับทิศทางความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชาที่แน่นแฟ้น ราบรื่น ซึ่งต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ให้ความใส่ใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง จนทำให้มีความร่วมมือที่ดีในทุด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และหวังว่าจะได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปในทุกระดับ
ทั้งนี้ ไทยชื่นชมและสนับสนุนความพยายามของกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน กับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และการร่วมมือกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม รวมถึงการผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการรักษาเสถียรภาพ สันติภาพ และความเจริญของภูมิภาค
ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ยินดีที่กัมพูชาและไทยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือกันอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ รวมทั้งได้ยืนยันความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสานต่อความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ทั้งสองฝ่ายยินดีที่เศรษฐกิจของไทยและกัมพูชาเติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น โดยการค้าระหว่างกันมีการขยายตัวอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025
ไทยและกัมพูชาชื่นชมความร่วมมือด้านการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศหารือกัน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการเงินและเศรษฐกิจดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
ในด้านความเชื่อมโยง ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการเปิดใช้งานทางหลวงพิเศษระหว่างกรุงพนมเปญกับจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งเป็นทางหลวงพิเศษสายแรกของกัมพูชาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับกัมพูชาอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศมากยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้หน่วยงานความร่วมมือด้านการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่ายสานต่อการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการศึกษา ซึ่งเป็นด้านที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาให้ความสำคัญ
ด้านปัญหาขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ข้ามชาติ (แก๊งค์ call center) นายกรัฐมนตรีขอบคุณกัมพูชาที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานกับขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ข้ามชาติ (แก๊งค์ call center) ในกัมพูชา โดยไทยตระหนักดีว่าขบวนการ call center เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้กัมพูชาเป็นฐานปฏิบัติการ และยินดีที่กัมพูชาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และพร้อมให้การสนับสนุนในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ขอรับการสนับสนุนการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028-Phuket Thailand จากกัมพูชา โดยหวังที่จะให้เวทีนี้เป็นเวทีให้นานาประเทศนำเสนอแนวทางเพื่อเป็นทางออกร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความร่วมมือสู่ความยั่งยืน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง
Top 5 ข่าวการเมือง ![]()
- "ผู้ว่าการ สตง." ปิดปากเงียบกลางสภา! กมธ.ป.ป.ช. ล้อมกรอบจี้พูดความจริง ปมตึกถล่ม 30 เม.ย. 2568
- “โสภณ” เผยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ แนะถ่ายโอนให้ท้องถิ่น มีความพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากรเพียงพอ 30 เม.ย. 2568
- สมาคมโทรทัศน์ดิจิทัลบุกวุฒิสภาสับยับ กสทช.บริหารอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลล้มเหลว 30 เม.ย. 2568
- "อารี" ลงพื้นที่ลพบุรี เปิดโครงการ MOL สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ 30 เม.ย. 2568
- ศาลฎีกาฯยกคำร้อง "ชาญชัย" คดี "ทักษิณ" ชั้น 14 ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่จะมีคำสั่งนัดพร้อมหรือนัดไต่สวน 13 มิ.ย.นี้ 30 เม.ย. 2568
ข่าวในหมวดการเมือง ![]()
"ไทยภักดี"ประชุมใหญ่สามัญปี 2568 "หมอวรงค์" ชูธงนำ ปราบโกงต้องเพิ่มโทษประหาร 18:39 น.
- "ประเสริฐ" ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ "สุรินทร์" กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือฝนทิ้งช่วง ลดผลกระทบต่อประชาชน 18:35 น.
- “ประมวล” เช็คกรมศุลทันที! หลังชาวบ้านสับสนพบรถบรรทุกน้ำมันปาล์มที่ท่าเรือบางสะพานเผยเป็นการส่งออกไปอินเดีย ไม่ใช่นำเข้าให้กระทบราคา 17:35 น.
- "รทสช." ปลื้ม สส.ลงพื้นที่ได้กำลังใจล้นหลาม ชาวบ้านแห่ชม "พีระพันธุ์" ลดค่าไฟต่อเนื่อง ผ่อนคลายค่าครองชีพ ลดความเดือดร้อนครัวเรือน 16:52 น.
- "ทักษิณ" เดินหน้าจัดองคาพยพ ดันสันติสุขชายแดนใต้ ลั่นปีนี้ต้องเห็นผล 15:29 น.