วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 01:11 น.

การเมือง

มหาดไทยยกระดับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 สั่งการทุกจังหวัด เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน

วันอาทิตย์ ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566, 16.14 น.

มหาดไทยยกระดับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 สั่งการทุกจังหวัด เร่งแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เน้นบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัยติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่องและอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และหากสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ได้กำชับรีบดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ PM 2.5 ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ให้ยกระดับปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามมาตรการที่ 1  คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 เมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อควบคุมปริมาณ PM 2.5 ให้ลดลงหรือคงอยู่ในระดับคงที่ ต่อมาระดับที่ 2 เมื่อ PM 2.5 ระหว่าง 51 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่าง ๆ เข้มงวดขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนการปฏิบัติ และต่อมาในระดับที่ 3 : PM 2.5 ระหว่าง 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว สถานการณ์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมีคณะกรรมการควบคุมมลพิษให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งหากปริมาณความหนาเเน่นของฝุ่นละอองยังคงเพิ่มสูงขึ้น ให้ดำเนินการในระดับที่ 4 : PM 2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และดำเนินการในระดับ 3 แล้ว สถานการณ์ไม่มีแนวโน้มลดลง ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหา และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการ

"ขณะนี้ได้เน้นย้ำการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน และสั่งการให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ตลอดจนเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด/หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) รวมทั้งกำกับ และติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 (1 สื่อสารเชิงรุก 5 ยกระดับปฏิบัติการ 1. สร้างการมีส่วนร่วม) โดยเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแลหมู่บ้าน/ชุมชน โดยงดการเผา และงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการ และผลการปฏิบัติของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การให้บริการห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ และแนวทางการดูแลสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง 2. เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในพื้นที่ต่อเนื่อง และ 3. กำกับ ติดตามผลการดำเนินการในระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามแนวทางที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเเก้ปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน" ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณายกระดับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่นละออง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"  โดยสามารถประสานการดำเนินงานกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) ในพื้นที่รับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนปฏิบัติการฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลตนเองเบื้องต้น จากผลกระทบจากหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 คือ ลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองปกคลุมหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย เปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน เพื่อช่วยซับกรองและป้องกันการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ปิดปากและจมูก เพื่อลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย และสวมแว่นตา เพื่อป้องกันการระคายเคืองตา ปิดประตูและหน้าต่าง ๆ ให้มิดชิด พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองลอยเข้ามาในบ้าน รวมถึงติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในที่อยู่อาศัย โดยเลือกใช้แบบที่ถอดล้างได้ เพื่อลดผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีควันปกคลุม โดยเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ดูแลตนเองเมื่ออยู่ในพื้นที่มีหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนักในที่โล่งแจ้ง เพราะจะสูดดมฝุ่นเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ทั้งนี้ ขอให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและพกติดไว้ หากอาการกำเริบจะช่วยรักษาอาการในเบื้องต้น สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้  ให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการเคืองตาหรือแสบจมูกอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อความปลอดภัยเเละป้องกันอาการเเทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นต่อไป 

หน้าแรก » การเมือง