วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:06 น.

การเมือง

"สว.สังศิต"ลุกฮือ! ต้านตัดงบฝายแกนดินซีเมนต์ปี 67 ชมปลัดมท.บริจาคปูน 1,000 ถุงสร้าง

วันเสาร์ ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2567, 18.45 น.

วันที่ 9   มีนาคม 2567    นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ  วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า  “ลุกฮือ! ตัดงบ” ฝายแกนดินซีเมนต์” ปี 67 ปลัดมหาดไทยบริจาคปูน 1,000 ถุง  “สว.สังศิต” ชื่นชม ขอขอบคุณนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แทนพี่น้องตำบลบ่อสวก บริจาคปูนซีเมนต์ 1,000 ถุง สร้างฝายแกนดินซีเมนต์  

เผยเมื่อพึ่งนักการเมืองไม่ได้ เพราะตัดงบประมาณสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ปี 2567 ทิ้งทั้งหมด ชาวบ้าน องค์กรผู้ใช้น้ำ พระสงฆ์ ตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน หันพึ่งตนเอง ทอด ผ้าป่าระดมทุนซื้อปูนสร้างฝายแกนดินซีเมนต์อีก 102 ฝาย (ปูนกว่า 2,000 ถุง) หลังจากสร้างไปแล้วกว่า 94 ฝาย (มากที่สุดคือจังหวัดน่าน) สามารถหน่วง เก็บน้ำใช้ในพื้นที่ได้มากกว่า 12,000 ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 497 ครัวเรือน บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ 

จำไม่ลืม นักการเมืองตัดงบฝายแกนดินซีเมนต์” ชาวบ้านไม่ง้อ ! กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ พระสงฆ์ลงขันทอดกฐินหาทุนสร้างฝาย เย้ยนักการเมืองไม่รู้จริง ประโยชน์ฝายแกนดินซีเมนต์

“ความก้าวล้ำของท้องถิ่นมีมากกว่า ส.ส.นักการเมืองบางกลุ่มที่ก้าวไม่ไกลเกินนิ้วหัวแม่เท้าของตัวเอง ความฉลาดของคนกลุ่มนี้เดินทางได้ช้ากว่าความเขลาทางปัญญาของตัวเองมากนัก”

ตำบล ”บ่อสวก“ จังหวัดน่าน ห่างไกลจาก ”สัปปายะสภาสถาน“ สถานที่ประกอบกรรมดี เพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาของบุคคลภายในชาติ ราว 700 กิโลเมตร เดินทางรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง มอเตอร์ไซค์ 11 ชั่วโมง หากเดินด้วยเท้าใช้เวลา 6 วัน แต่ความฉลาด ปัญญาของ ส.ส.นักการเมืองบางกลุ่ม กลับเดินทางได้ช้ากว่าน้ำที่ซึมผ่านฝายแกนดินซีเมนต์เสียอีก ? 

ความสามารถการซึมผ่านของน้ำในดินโดยทั่วไปมีค่าอยู่ที่ 10^-3 ถึง 10^-9 cm/sec ดังนั้น น้ำปูนที่ข้นกว่าน้ำก็จะเคลื่อนที่ลงไปในดินได้ช้ากว่าน้ำมาก และจะเกิดปฏิกิริยาไฮเดรชันทำให้น้ำปูนแข็งตัวก่อนที่จะซึมลงไปในชั้นดิน ลึก (10^-9 หมายความว่า 1 วินาที น้ำเคลื่อนที่ซึมผ่านดิน ได้เพียง =0.000000001 cm/sec เท่านั้น เมื่อปูนผสมดินมีความเข้มข้นมากกว่า ยิ่งเคลื่อนที่ช้ากว่ามาก)

ฉะนั้น สมองสติปัญญา ความฉลาดของ ส.ส.นักการเมืองบางกลุ่ม กว่าจะเดินทางถึง “บ่อสวก” แหล่งความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า “น้ำปูนผสมดิน” ซึมผ่านฝายแกนดินซีเมนต์หลายหมื่นเท่านักการเมืองเดินทางด้วยเท้าจะถึงเร็วกว่า สมอง ปัญญา ของ ส.ส.นักการเมืองบางกลุ่ม ที่เพียงอาศัย “สัปปายะสภาสถาน” ซุกซ่อนความโง่เขลา อวดฉลาดของตัวเอง เท่านั้น

ตำบลบ่อสวกมี 13 หมู่บ้าน มีพื้นที่ 38,444 ไร่ มีประชากร 6,514 คน อาชีพหลักร้อยละ 97 คืออาชีพเกษตรกรรม 

โครงการด้านน้ำต่างๆ หลายโครงการในอดีตนั้นไม่ได้ตอบสนองตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพราะข้อจำกัดเรื่องหลักคิดที่ไม่เริ่มต้นจากการถามความต้องการของประชาชนก่อน ด้านงบประมาณท้องถิ่นที่มีค่อนข้างน้อย และความไม่พร้อมของข้อมูลสนับสนุนจากในพื้นที่

อบต.“บ่อสวก” ก้าวล้ำเทียบชั้นองค์กรน้ำระดับชาติ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับผู้นำท้องที่ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพึ่งตนเองได้

การบริหารจัดการปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ตำบลบ่อสวก เริ่มต้นด้วยการสำรวจพื้นที่ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ปัญหา และการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยความร่วมมือของทั้งประชาชน องค์กรผู้ใช้น้ำ และคณะทำงานบริหารจัดการน้ำระดับตำบล ซึ่งมีการพัฒนา APPICATION EPICOLLECT5 โดยสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่แล้วนำข้อมูลมาประมวลผลเป็นข้อมูลสมดุลน้ำรายหมู่บ้าน 

ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการ เราจัดทำข้อมูลสมดุลน้ำรายหมู่บ้าน ปี 2566 มีข้อมูลว่ามีปริมาณความต้องการใช้น้ำ ทั้งการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การใช้น้ำเพื่อการปศุสัตว์ และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนรวม 8,535,433.29 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากถึง 8,104,586.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่มีปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถกักเก็บไว้ได้แค่ 1,803,177.4 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น‘ (เร่งความฉลาดของ ส.ส.นักการเมืองบางกลุ่ม โปรดอ่าน :https://www.facebook.com/100063808116007/posts
775065107963753/?)

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายอลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวกว่า  จากกรณีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อนุกรรมาธิการศึกษาฯ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน วุฒิสภา และคณะลงพื้นที่ตำบลบ่อสวก ศึกษาดูงานการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเยี่ยมชมฝายแกนดินซีเมนต์และระบบโซล่าร์ปั๊ม เพื่อเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ก่อนต่อยอดการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2567 คณะทำงานบริหารจัดการน้ำตำบลบ่อสวก ได้รับโทรศัพท์จาก ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า หลังจากที่ท่านลงพื้นที่บ่อสวก ได้รายงานผลการลงพื้นที่ให้กับท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในตำบลบ่อสวก และการขับเคลื่อนการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ด้วยกำลังของชาวบ้านในพื้นที่ ท่านจะร่วมทำบุญผ้าป่าครั้งนี้ โดยมอบปูนซีเมนต์ให้ 1,000 ถุง

ผมใคร่ขอชื่นชมความมีน้ำใจของ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เอื้ออารีแก่พี่น้องประชาชนบ่อสวกด้วยการ สนับสนุนปูนซีเมนต์ให้ อบต.บ่อสวกเพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ให้พี่น้องชาวบ่อสวกมีน้ำใช้ตลอดปี”ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว

นายสังศิต เผยอีกด้วยว่าได้รับทราบอีกด้วยว่า “พี่น้องชาวตำบลบ่อสวก ประสบภัยแล้งและขาดน้ำเพื่อการเกษตร จะหวังพึ่งหน่วยงานใดเพียงอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์ ต้องพึ่งตนเอง เริ่มจากความต้องการของชุมชน มีข้อมูลรองรับการตัดสินใจ ด้วยระบบข้อมูลดิจิทัล ชุมชนขยับขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน แผนงานโครงการด้วยพลังความสามัคคีจากภายในชุมชนเอง
เมื่อ 8 มีนาคม 2567 ชาวบ่อสวกได้จัดกิจกรรม ”ทอดผ้าป่าน้ำ“ เพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ระดมทุนทรัพย์ของชุมชนตามกำลัง ได้รับ บริจาคจากชุมชน 30,474 บาท จากจังหวัดต่างๆ 47,817 บาท ได้ยอดเงินรวม 78,291 บาท และจากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ปูน 1,000 ถุง“

น่าสนใจว่าประชาชนผู้บริจาคในนาม ”องค์กรผู้ใช้น้ำตำบลบ่อสวก“ เป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติ ทรัพยากรนำ้ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 และตามกฏกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2564 (ประกาศใช้วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ ”องค์กรผู้ใช้น้ำ” มีอำนาจหน้าที่ประสานงานและดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ เป็นต้น  ปัจจุบันบ่อสวกสร้างฝายไปแล้วกว่า 94 ฝาย (มากกว่าทุกจังหวัดใน ประเทศไทย เพียงแต่เป็นฝายขนาดเล็ก) สามารถหน่วงน้ำเก็บไว้ในพื้นที่ได้มากกว่า 12,000 ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 497 ครัวเรือน บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ เป้าหมายเราคือการสร้างฝายเพื่อหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่อีก 102 ฝาย (ปูน2,000 กว่าถุง) 

นายอลงกต ประสมทรัพย์รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก กล่าวผ่าน https://www.facebook.com/share/p/uS6FbVMPUK5k1knL/?mibextid=oEMz7o ว่า
”เจตจำนงค์แห่งการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำยังคงมั่นคงเสมอ เพราะหากแก้ไขเรื่องน้ำได้ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เงินทุกบาท ปูนทุกถุง ที่ท่านมอบให้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดและสายธารแห่งศรัทธายังคงหลั่งไหลไม่ขาดสาย ยังรับบริจาคเข้ากองทุนรักษ์น้ำเรื่อยๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่อีก 102 ฝาย ใช้ปูนอีกประมาณ 2,000 กว่าถุง  ขอเรียนเชิญบริจาคได้ที่บัญชี “กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำตำบลบ่อสวก“ (ธนาคาร ธกส.) เลขที่บัญชี
020205658894 สาขาปางค่า (ตามรูปปกบัญชีแนบ)

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ให้แง่คิดว่า “สถานการณ์โดยรวมยังเอื้ออำนวยให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะขับเคลื่อนการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ต่อไป 

ในรัฐบาลชุดที่แล้ว คณะกรรมาธิการฯ พยายามเข้าชี้แจงและให้ข้อมูลกับรัฐบาลหลายครั้งหลายหน เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนการก่อสร้างโครงการนี้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่อย่างใดเลย รัฐบาลในขณะนั้นต้องการสนับสนุนโครงการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า

แต่เมื่อถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลเป็นฝ่ายริเริ่มนโยบายการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยหลายท่านไปเห็นของจริงที่เทศบาลตำบล เชียงม่วน จังหวัดพะเยา และที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านสร้างขึ้นหลายแห่งที่จังหวัดน่าน รัฐบาลเห็นเอง คิดได้เอง ตื่นเอง และทำเองอย่างอิสระโดยไม่ถูกแทรกแซงจากบุคคลหรือองค์กรใด

ถึงแม้ว่าวันนี้งบประมาณ 1,250 ล้าน บาทที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจจะสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นใช้ในปีงบประมาณ 2567 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศจะ ถูกพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์รวมหัวกันคว่ำไปแล้วก็ตาม ผมเห็นว่าก็ไม่เป็นเรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด 

เพราะในรัฐบาลชุดที่แล้ว แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลย แม้มีอุปสรรคขวากหนามจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของหน่วยราชการเป็นจำนวนมากมายกว่าในขณะนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนก็ยังจับมือร่วมกันขับเคลื่อนสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ได้ตั้งหลายร้อยตัว งบประมาณส่วนใหญ่ของพวกเราก็มาจากงบการบริจาคจากบริษัทห้างร้านต่างๆ และจากการทอดผ้าป่าทั้งสิ้น 

ความมีน้ำใจ การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก การไม่ทนที่จะเห็นเพื่อนร่วมชาติเดือดร้อน และปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว อ้างว้าง โดยไม่เหลียวแล เพิกเฉย เหมือนคนบางชนชาติในโลก แต่กลับยื่นมืออันอบอุ่นเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไม่ชักช้า ช่วยดึงผู้ที่เฝ้ารอคอยโอกาสให้รอดพ้นออกมาจากหุบเหวที่เป็นภาวะวิกฤติของชีวิต ให้กลับมามีความหวังในชีวิตได้อีกวาระหนึ่ง นี่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทยทั้งชาติ นี่เป็นศาสตราวุธทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีปฏิบัติที่ดีงามที่สำคัญที่สุดของประชาชนคนไทยทั้งชาติที่ถูกหล่อหลอมและสร้างสมกันมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปี ที่ใช้ช่วยเหลือพี่น้องคนไทยร่วมชาติกันในยามที่เดือดร้อนเสมอมาตั้งแต่ในอดีตกาล
สวัสดีครับ…จากผมเอง

ทั้งนี้นายสังศิตโพสต์ประกอบการแชร์เฟซบุ๊ก อลงกต ประสมทรัพย์   ที่มีเนื้อหาความว่า  ภัยแล้งและการขาดน้ำเพื่อการเกษตร จะหวังพึ่งหน่วยงานใดเพียงอย่างเดียว คงไม่ทันการณ์ ต้องเริ่มจากความต้องการของชุมชน และมีข้อมูลรองรับการตัดสินใจ บนระบบข้อมูลดิจิทัล ชุมชนขยับขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งการให้ได้มาซึ่งข้อมูล แผนงานโครงการ และระเบิดพลังความสามัคคีจากภายในชุมชนเอง

 8 มีนาคม 2567 กับกิจกรรมทอดผ้าป่าน้ำ เพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ขอขอบพระคุณผู้ร่วมทำบุญทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่เคยร่วมงานกันแต่ยังคงมิตรภาพดีๆต่อกันเสมอมา และการระดมทุนทรัพย์ของชุมชนตามกำลัง ทำให้กิจกรรมในวันนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  ก้าวนี้เป็นก้าวที่สำคัญ ที่จะประกาศให้รู้ว่า การพัฒนาทรัพยากรน้ำ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ระดับชุมชน ขยายเป็นระดับตำบล และบริหารร่วมกันในระดับลำน้ำ ร่วมกันมากกว่า1 ตำบล และเราจะสร้างสมดุลน้ำให้เกิดขึ้นไปด้วยกัน
ยอดผ้าป่าที่ร่วมทำบุญ ณ 16.00น. 8/3/67 
จากชุมชน 30,474 บาท
จากเพื่อนพ้องต่างจังหวัด 47,817 บาท
ยอดเงินรวม 78,291 บาท
จากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ปูน 1,000 ถุง
เงินทุกบาท ปูนทุกถุง ที่ท่านมอบให้ จะถูกใช้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
และสายธารแห่งศรัทธายังคงหลั่งไหลไม่ขาดสาย ยังรับบริจาคเข้ากองทุนรักษ์น้ำเรื่อยๆครับ แม้ว่าปัจจุบัน เราสร้างฝายไปแล้วกว่า94ฝาย (มากที่สุดในจังหวัดน่าน) สามารถหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ได้มากกว่า 12,000ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 497ครัวเรือน บนพื้นที่ กว่า 600ไร่  เป้าหมายเราคือการสร้างฝายเพื่อหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่อีก 102 ฝาย (ปูน2,000กว่าถุง) 
เจตจำนงค์แห่งการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำยังคงมั่นคงเสมอ เพราะ... แก้ไขเรื่องน้ำได้ ก็แก้ได้ทุกเรื่อง
#คณะทำงานบริหารจัดการน้ำตำบลบ่อสวก

หน้าแรก » การเมือง