วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:00 น.

การเมือง

“รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ” แนะรัฐบาลไทยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้าทันโลกเปลี่ยน

วันอาทิตย์ ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 12.46 น.

“รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ” มอง “ทรัมป์” คัมแบ็กทำโลกเปลี่ยน ชี้ธนาคารกลางทั่วโลกรอดู-เฝ้าบ้านใครบ้านมัน แนะรัฐบาลไทยต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้า

รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าหลังจากที่ธนาคารกลางหลายประเทศและรัฐบาลจีนได้เฝ้ารอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จนแน่ชัดแล้วว่าใครมา และอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่งรอบสองในต้นปี 2568 นั้น วันแรกของความชัดเจนก็เกิดความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก กล่าวคือ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐได้แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง ถึงประมาณร้อยละ 2 ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี พุ่งแตะกว่าร้อยละ 4.4 และตลาดหุ้นสหรัฐได้ขานรับแนวทางการลดภาษีเงินได้และธุรกิจของทรัมป์อย่างดุเดือดพอสมควร ตามแนวทางที่ขานเรียกกันว่า Trump Trade คือการลงทุนซื้อขายที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์ สวนทางกับทางขัดของทรัมป์ คือหุ้นจีนและเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์และพลังงานสะอาด ดิ่งตัวลง

การขยับขึ้นของค่าเงินดอลล่าร์ ทำให้ผมเองก็ครุ่นคิดอย่างหนักว่า จะเอายังไงต่อดี ในภาวะที่อารยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเขากำลังจะลดดอกเบี้ยกัน มีแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะขึ้นดอกเบี้ยที่เดียว ถ้าดอลล่าร์แข็งต่อไปอีก และยืนระยะได้นาน แม้ว่าว่าที่ประธานาธิบดียังไม่ได้สาบานเข้ารับตำแหน่ง หรือประกาศจะดำเนินการอะไรยังไงจริงๆเลย แล้วจะทำกันอย่างไร ทิศทางการควบคุมเงินเฟ้อ และรักษาระดับคุณภาพสินเชื่อทั่วโลกจะเป็นอย่างไร เพราะในความเป็นจริง ประชากรในยุโรปและสหรัฐก็ล้วนได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผ่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้เกิดหนี้เสีย และยอดขายบ้านที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนธนาคารกลางสหรัฐต้องรีบหั่นดอกเบี้ยลง คราวก่อนถึงร้อยละ 0.5

ในที่สุดตามกำหนดการเดิม วันถัดมาธนาคารกลางของอังกฤษ ก็ยังยืนหยัดประกาศลดดอกเบี้ยตามแผนเดิม และตามด้วยธนาคารกลางสหรัฐก็ประกาศลดดอกเบี้ยตามคาดอีกคือ ร้อยละ 0.25 พร้อมกับให้คำมั่นว่าการเมืองสหรัฐจะไม่สามารถแทรกแซงธนาคารกลางได้ ผู้ว่าการเฟด เพาว์เวล ก็สำทับว่าใครก็มาปลดผมไม่ได้ ผมต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ไม่ว่านโยบายทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ทำให้กลับมานึกถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าควรต้องรักษาความสง่างามด้วยเช่นกันไหม นโยบายลมปากของนักการเมืองจะสามารถปฏิบัติได้จริงขนาดไหนก็ยังไม่มีใครรู้

การยืนหยัดของธนาคารกลางของชาติมหาอำนาจทั้งสอง ช่วยทำให้เงินดอลล่าร์กลับมาอ่อนค่าลงได้ประมาณร้อยละ 1 ถึง 1 กว่าเล็กน้อย และรัฐบาลจีนก็ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่อีก หลังจากที่ประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติได้ประชุมพิจารณาไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกาศจะเพิ่มวงเงินรับซื้อตราสารหนี้จากรัฐบาลท้องถิ่นอีก 6 ล้านล้านหยวน จากของเดิมที่ออกมาตรการก่อนหน้านี้แล้ว 4 ล้านล้านหยวน รวมเป็น 10 ล้านล้านหยวน พร้อมกับการเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นไปในตัว ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่น แลกเปลี่ยนกับตราสารของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะออกหรือออกมาแล้ว จนถึงอีก 4 ปีข้างหน้า ถือว่าอัดฉีด 4 ปี ในวงเงินประมาณ 10 ล้านล้านหยวน เทียบกับระดับจีดีพีที่ 126 ล้านล้านหยวน คือประมาณร้อยละ 8 ในระยะเวลา 4 ปี ก็จะถือว่าประมาณปีละ ร้อยละ 2 ก็ไม่ได้ถือว่ามากมายอะไร แม้ว่าหากฟังตัวเลขทั้งหมด ดูเหมือนจะเยอะมาก แต่ค่อยๆทำ

ผลก็คือว่า ผลการตอบรับจากตลาดจีนและฮ่องกง ก็ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะไม่ได้เป็นตัวเลขต่อปีที่มากจนน่าดีใจหรือตื่นเต้นอะไร ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง แต่ต้องผ่านรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อผ่านไปยังโครงการที่จะต้องไปทำอะไรก่อน ไม่ได้เป็นการอัดฉีดทางตรงเหมือนกับการแจกเงิน หรือแจกเช็คช่วยชาติเหมือนที่สหรัฐ และหลายประเทศเคยทำช่วงโควิด แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนและธนาคารกลางก็ออกมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดดอกเบี้ย เปิดทางให้ท้องถิ่นฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์เต็มที่ และมีมาตรการการคลังออกมาเสริมอีก อีกไม่นานผมเชื่อว่าจีนคงจะออกมาตรการลดภาษีลงในส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง เรียกว่าจีนตั้งใจฟื้นฟูเศรษฐกิจเต็มที่ แม้ว่าต้องสู้กับกิเลสกับนักลงทุนไปด้วยในตัว

ระยะหลังจากทรัมป์มาในสองสามวันแรก กำลังถูกทดสอบโดยบทบาทของธนาคารกลางที่ยืนหยัดลดดอกเบี้ย ตามด้วยการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจของจีน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดดอกเบี้ยมาหลายครั้งแล้ว แต่นักลงทุนทั่วไปก็เรียกร้องตลอดว่าไม่พอ ภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจทั้งนั้น ที่ประกาศลดดอกเบี้ยก็ยังไม่แน่ใจว่าจะประสบกับปัญหาเงินเฟ้อกลับขึ้นมาใหม่จากการออกนโยบายของฝ่ายการเมือง หรือไม่อย่างไร แต่เป็นไปได้ว่า ตั้งแต่กลางปีหน้าขึ้นไป ภาวะการณ์ลดดอกเบี้ยอาจจะกลับมาสะดุด ชะงักงัน จากเงินที่เริ่มกลับมาเฟ้อมากขึ้น ทั้งที่สหรัฐและอังกฤษ 

หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้มาพร้อมกัน และไม่ได้มีผลในทางเดียวกัน การลดดอกเบี้ยของเฟดและธนาคารกลางชั้นนำ ย่อมทำให้เกิดการลดภาระทางการเงินของครัวเรือน และโอกาสการเกิดหนี้เสียแน่นอน แบบทันที การลดภาษีเงินได้ ย่อมทำให้เกิดกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น น่าจะตามมาทีหลังในฤดูกาลจ่ายภาษี ซึ่งน่าจะเป็นอีกระยะหนึ่ง การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากต่างประเทศและโดยเฉพาะจีน น่าจะค่อยๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากมีการทยอยเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อสินค้า ลดการนำเข้าลง การบริโภคของที่แพงกว่าภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น่าจะมีผลต่อเงินเฟ้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป การที่จะสามารถไปเจรจากับรัสเซียให้ยุติสงครามยูเครน ในลักษณะที่บีบยูเครน น่าจะช่วยให้ต้นทุนพลังงานและการขนส่งลดลง น่าจะเกิดได้ ถ้าทำได้จริง ก็คงต้องอีกระยะหนึ่ง ต้องรอดูความสามารถในการเจรจาความ ก็เป็นผลในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางทั่วโลกคงต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ

ผลที่จะเกิดเร็วสุด คือเรื่องของลดดอกเบี้ยของเฟด ในขณะที่ผลจะค่อยๆมา คือสงครามการค้าที่จะทยอยปรับลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง ซึ่งจะค่อยๆหักล้างผลของเฟดก่อนหน้านี้ แต่เรื่องสงครามยูเครนที่จะยุติได้ ก็อาจจะช่วยเฟดในการลดดอกเบี้ยได้ต่อไปง่ายขึ้น ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริงได้ ก็ต้องผ่านเวลาไปอีกอย่างน้อยก็ประมาณ สองไตรมาส เราก็คงเห็นว่าเศรษฐกิจโลกไปได้ในลักษณะอย่างไร ไหวไม่ไหว เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้จริงไหม หรือจะเข้าสู่การชะลอตัวอย่างหนัก

หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนัก ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจีน ก็คงลากสหรัฐลงไปด้วยกัน อย่างเป็นไปได้มากเลย เพราะเศรษฐกิจโลกวันนี้ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างสันติสุขด้วยมหาอำนาจคนเดียว หากอีกมหาอำนาจกำลังเข้าสู่วิกฤต ย่อมทำให้ระบบอุปสงค์อุปทานในโลก ในอุตสาหกรรมอย่างเดียวกัน คืออุตสาหกรรมทันสมัยเกิดภาวะสะดุดแน่นอน เมื่ออุตสาหกรรมขั้นกลางที่ผลิตชิปหรือซุปเปอร์ชิป เกิดการสะดุดตัวอย่างหนัก ย่อมทำให้ภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมทันสมัยสะดุดหมดทั้งโลก ย่อมหมายถึงตลาดหุ้นไฮเทคอย่าง แนสแดก ย่อมสะดุดตัวอย่างมากมายตามมา

การสร้างสงครามการค้าจริงๆ มันน่าจะเป็นการดึงเกมส์ไม่ให้อีกฝ่ายเศรษฐกิจเติบโตแซงหน้ามากเกินไป ดึงให้ชะลอคันเร่งลงบ้าง ไม่ควรจะพิจารณาทำให้เกิดวิกฤตในอีกฝ่าย เพราะวิกฤตก็จะย้อนกลับมาเข้าหาตนเองในที่สุด ในขณะเดียวกันถ้าไม่มีสินค้านำเข้าที่มาจากจีนเลย ผมก็มั่นใจว่าจะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ในสหรัฐตามมาแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมต้นน้ำในสหรัฐ ไม่ได้มีความทันสมัยมากมาย เทคโนโลยียังเก่าๆก็มีพอสมควร ย่อมทำให้เกิดการปรับตัวของค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะสหรัฐไม่ได้มีความได้เปรียบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ในหลายสาขาเลย เพราะในระยะหลังสหรัฐเน้นการพัฒนาไปที่อุตสาหกรรมไฮเทคเสียมากกว่า

ถึงเวลาเอาเข้าจริง ใช่ว่าทรัมป์จะสามารถขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนได้ถึงร้อยละ 60 ในขณะที่จีนก็มีพันธมิตรที่กำลังสร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างกลุ่มบริกซ์ ที่จะลดอิทธิพลของค่าเงินดอลล่าร์ลง อะไรที่หาเสียงว่าจะทำเท่านั้นเท่านี้ ใช่ว่าจะทำได้จริง เหมือนประเทศไทยหาเสียงว่าจะทำดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ก็ใช่ว่าจะทำได้จริงแล้วในเวลานี้ เวลาหาเสียงก็พูดไปเรื่อยเปื่อยหาเอาคะแนนเสียงไว้ก่อน ทำได้ไม่ได้ไว้ว่ากันทีหลัง

โลกยุคใหม่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค จนเริ่มเห็นการอิ่มตัวระยะสั้นของอุตสาหกรรมชิป และเซมิคอนดักเตอร์บ้างแล้ว อุตสาหกรรมก้าวหน้าเหล่านี้มีการพัฒนาธุรกิจศูนย์การจัดเก็บข้อมูลไปมากพอสมควรแล้ว หลายรายหันมาขยายฐานธุรกิจที่สิงคโปร์ มาเลเซียมาระยะหนึ่งแล้ว แล้วก็เริ่มมาที่ไทยที่สุดท้าย มันก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจนี้จะยังอยู่ในขั้นต้นของการเติบโต ในขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรม AI ยังต้องเข้าสู่บทพิสูจน์ใหม่เรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชิปตัวใหม่ การพัฒนาหุ่นยนต์ รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ ยังติดๆขัดๆในแง่ปฏิบัติการมากมาย ยังเป็นตัวต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาตรงนี้ให้ไปได้ ในขณะที่อุตสาหกรรมด้านอื่นที่มีช่องว่าง ไทยไม่ได้หยิบยกมาพูดถึง คงแต่ปลื้มในอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเลือกเข้ามาที่ไทยเป็นรายท้ายสุดในภูมิภาค เงินลงทุนระดับสองสามหมื่นล้านบาท ที่ทยอยหยอดในหลายๆปี มันไม่ได้มากมายอะไรเลย แลกกับอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ทยอยปิดตัว มันก็เทียบกันไม่ได้

ทุกชาติขยับใหญ่หมดเรื่องเศรษฐกิจ นับจากสหรัฐที่จะกลับมาฟื้นฟูความพอใจของประชาชน ที่สำเร็จอย่างมากจากการตอบโจทย์เรื่องแรงงานอพยพที่มาแย่งงานคนอเมริกัน อังกฤษที่ออกมาอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นกลางปี ฟาดภาษีคนรวยและต่างชาติ ช่วยคนจน จีนพยายามเต็มที่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สำเร็จ อินเดียและเวียดนามภาคภูมิใจในการเติบโตและสนับสนุนอุตสาหกรรม ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจให้สร้างความต่อเนื่องในการเติบโตให้ได้ มาเลเซียเน้นอุตสาหกรรมไฮเทคอยู่แล้วก่อนหลายปี แต่ไทยยังไม่ได้ขยับภูมิทัศน์ทางด้านอุตสาหกรรมเลย ปล่อยให้บีโอไอเป็นหน้าต่างรอคนเข้ามาเท่านั้น แม้ว่าเข้ามาดีกว่าไม่มี และยังดีที่เริ่มเห็นข่าวว่ารัฐมนตรีอุตสาหกรรมท่านนี้ ท่านขิงเริ่มจะผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้าให้เริ่มมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมต่อไป ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดอะไรมาบ้าง ฝากเตือนท่านขิงว่าขอให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ยังอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนานะครับ การทำนโยบายผลักดันให้เกิดรูปธรรมมันคือสองปีอย่างเร็วสุดขีด กว่าจะเริ่มสร้างมันก็จะเข้าสู่ช่วงท้ายแล้ว ทำเสร็จจะเข้าสู่วัฏจักรขาลงทันทีหรือไม่

สรุปสถานการณ์ตอนนี้คือ ธนาคารกลางเฝ้าบ้านรอดูนโยบายฝ่ายการเมืองทำได้จริงจังแค่ไหนทั่วโลกครับ

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง