วันอาทิตย์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567 03:38 น.

การเมือง

 "นฤมล" ประกาศยกระดับหม่อนไหม ดันเป็น Soft Power แปรรูป เพิ่มมูลค่า ขยายพื้นที่ปลูก สร้างรายได้ให้เกษตรกร

วันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 15.55 น.

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" และการยกระดับสินค้าและบริการมูลค่าสูงของกรมหม่อนไหม ณ เจ.ที.ฟาร์ม ซิลค์สันกำแพง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

กรมหม่อนไหมกับภารกิจสำคัญเพื่อเกษตรกรไทย 

นางนฤมลเปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร ปัจจุบันมีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ 25 แห่งทั่วประเทศ สำหรับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ มีบทบาทในการอนุรักษ์ วิจัย และพัฒนาพันธุ์หม่อนและไหม รวมถึงส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยในจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำนวน 97 ราย รวมพื้นที่ปลูก 205 ไร่

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรยังเข้าสู่อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตในปีแรกสูง ขณะที่ตลาดมีความต้องการรังไหมถึง 5,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรสามารถผลิตรังไหมได้เพียง 2,000 ตันต่อปี

ขับเคลื่อนนโยบายและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานตามนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ผ่านการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคประชาชน รัฐ และเอกชน เช่น การวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ไหมให้เหมาะสม การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต การถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร และการวางแผนการผลิตร่วมกันกับผู้ประกอบการ ผลจากการดำเนินงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตรังไหมได้ถึง 1.2 ตันต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ย 225,264 บาท และผลผลิตใบหม่อนขายได้ 102,576 บาทต่อปี

สนับสนุนเกษตรกรสร้างความยั่งยืน

สำหรับบริษัท เจ.ที. ซิลค์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งในปี 2546 เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ โดยกรมหม่อนไหมสนับสนุนพันธุ์หม่อน ไข่ไหมพันธุ์ดี และให้ความรู้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พร้อมรับรองมาตรฐานหม่อนและรังไหมอินทรีย์ ในอนาคต กรมหม่อนไหมมีแผนขยายพื้นที่ปลูกหม่อนในภาคเหนือตอนบน และพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้าอินทรีย์ เพื่อเพิ่มรายได้และความยั่งยืนให้เกษตรกร พร้อมนำโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการผลิต ซึ่งช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหม่อนไหมไทย

นางนฤมลย้ำว่า การส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 

หน้าแรก » การเมือง