วันอาทิตย์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:55 น.

การเมือง

พบเพิ่มอีก 6 ร่างตึก สตง.ถล่ม ครื่องจักรไม่ทำหลักฐานเสียหาย "ดีเอสไอ" เชิญ "กรมโยธาฯ" ตรวจสอบชื่อ 51 วิศวกรคุมงาน

วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568, 15.24 น.

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงความคืบหน้ากรณีการกู้ซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม และค้นหาผู้สูญหายว่า วันนี้ยอดความสูงของอาคาร สตง.ที่มีความสูงเมื่อวานอยู่ที่ 13.05 เมตร ตอนนี้ยอดความสูงตรวจสอบเมื่อเวลา 09:00 น.ที่ผ่านมา ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 12.45 เมตร ซึ่งเป็นยอดบริเวณด้านหน้าติดกับโซน B  ส่วนบริเวณด้านหลังโซน C เจ้าหน้าที่ได้มีการขุดลึกเพิ่มลงไปประมาณ 3 เมตร ซึ่งพบร่างผู้เสียชีวิตตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ช่วงเย็น 2 ร่างครึ่ง รวมทั้งหมดเป็นประมาณ 6 ร่าง ร่วมถึงชิ้นส่วนมนุษย์อีกประมาณ 14 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการรอสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคล อีกครั้ง

โดยเมื่้อเวลา 00.20 น. ที่ผ่านมา บริเวรโซน C และ โซน B เจ้าหน้าที่พบบริเวณปล่องบันไดข้างลิฟต์ ตรงนั้นมีป้ายบอกเลขชั้น 17,18 และราวบันไดกันตก พบกลุ่มร่างผู้เสียชีวิตติดค้างอยู่ จึงคาดว่าเป็นปล่องบันไดหนีไฟอย่างแน่นอน ส่วนเมื่อ 2 วันก่อนที่ไม่เจอร่างผู้ติดค้างเลย เป็นเพราะเราเน้นการทำงานไปบริเวณจุด E ซึ่งคือยอดของอาคาร จึงต้องค่อยๆ กู้ซาก หากให้เครื่องจักรเร่งทำงานอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตราย ส่วนบัตรประชาชนที่เจอภายในอาคารสตง. ยืนยันแล้วว่าเป็นบัตรของคนงานที่รอดชีวิต

ขณะที่การนำเครื่องตัดแก๊ส มาใช้ตัดเหล็กเส้นได้เยอะหรือไม่นั้น นายสุริยชัย ระบุว่าวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา รถขนเศษเหล็กสามารถขนได้ 176 รอบ ส่วนเมื่อวานนี้ขนได้ประมาณ 300 รอบ โดยในการทำงานได้มีการเพิ่มรอบในการเข้ามาขนเศษเหล็กเพิ่ม และมีการเพิ่มจำนวนทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาตัดเหล็กทำให้ปริมาณการตัดเหล็กนั้นมีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงปริมาณในการขนออกมานั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของโพรงที่จะอยู่บริเวณด้านล่างของซากอาคารยังมีความหวังที่จะเจอคนที่งานรอดชีวิตหรือไม่นั้น คาดว่า ไม่น่าจะมีโพรงขนาดใหญ่แล้ว เพราะ จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วน มองว่าอาอาคารมีทั้งหมด 30 ชั้น มีความสูง 90 เมตร รวมถึงมีน้ำหนักที่มากพอถล่มก็ทับถมกันลงมาพร้อมกันในทีเดียวจนไปถึงชั้นใต้ดิน ขนาดหมวกนิรภัยของคนงาน ที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัมก็ถูกทับจนแบน

โดยตอนนี้ยังคงใช้แผนเดิมต่อไปยังไม่มีการปรับแผนคาดว่าจะถึงบริเวณชั้นหนึ่งได้ คือสิ้นเดือนเมษายนนี้ และอุปสรรคที่มีอยู่ตอนนี้ คือเศษเหล็ก เศษปูนที่นำออกมาแล้วไปไว้ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มมีพื้นที่ไม่พอ จึงจะทำการประสานกับผู้ว่าการรถไฟ เพื่อขอใช้พื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้จะต้องเก็บเศษปูนเหล็กทั้งหมดไว้ในครอบครองของรัฐก่อน ส่วนในอนาคตหากคดีจบลงแล้วตัวเจ้าของทรัพย์สินจะเป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนการที่เครื่องจักรทำงานตลอดเวลาจะทำให้หลักฐานได้รับความเสียหายหรือไม่ นายสุริยชัย ระบุว่า ชุดคณะกรรมการที่รัฐบาลมีการตั้งขึ้น และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องนี้ ได้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาภายในไซด์งานและจะตรวจสอบหลักฐานผ่านกล้องโดรน พอเห็นจุดไหนที่คาดว่าเป็นหลักฐานก็จะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเครื่องจักรในพื้นที่ ให้เครื่องจักรหยุดทำงาน และเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปเก็บหลักฐาน ซึ่งตอนนี้เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอาคาร ถ้าจะให้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บหลักฐาน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการค้นหาร่างผู้ติดค้างเรายังคงเน้นค้นหาร่างผู้สูญหาย

"ดีเอสไอ" เชิญ "กรมโยธาฯ" ตรวจสอบชื่อ 51 วิศวกรคุมงานตึก สตง. ถล่ม
 
ที่กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ชั้น 7 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผลการตรวจค้น 4 บริษัท ยึดหลักฐานโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับอาคาร สตง. ว่า เจ้าหน้าที่สามารถยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิส และเอกสารต่างๆ เพื่อมาตรวจสอ ขณะนี้พนักงานสอบสวนรวมถึงเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการฯ อยู่ระหว่างพิจารณาและตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าว

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบเอกสารพบรายชื่อวิศวกร 51 คน โดยในจำนวนนี้มี นายสมเกียรติ ชูแสงสุข และนายชัยฤทธิ์   (สงวนนามสกุล) ที่เข้ามาแสดงตัวแล้ว โดยวันนี้ นายชัยฤทธิ์ ก็เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างการสอบปากคำ ซึ่งในรายละเอียดยังไม่ทราบว่ามีการแอบอ้างชื่อหรือปลอมลายเซ็นด้วยหรือไม่ แต่มีประเด็นถูกพาไปถ่ายรูปควบคุมงานระหว่างก่อสร้าง สตง. 

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า ส่วนวิศวกรที่จะเดินทางมาพบอีก 2 รายที่ดีเอสไอเชิญ ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ยืนยันว่าวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องเรียกมาสอบปากคำทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการควบคุมงานจริงหรือไม่ มีใครเป็นวิศวกรในโครงการนี้จริงบ้าง แล้วจึงจะขยายผลไปได้ว่ามีการปลอมลายเซ็นหรือไม่ กระบวนการทำงานถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ กรณีของ นายพิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปีที่ปรากฏรายชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบอาคาร สตง. นั้น พนักงานสอบสวนได้ไปพบตัวแล้ว และเจ้าตัวมีอาการป่วยจริงๆ โดยเจ้าตัวยังได้ขอเวลาในการเตรียมเอกสารมาให้การ คาดว่าจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า

"ยืนยันว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยพนักงานสอบสวนได้ทำตารางนัดหมายพยานไว้เรียบร้อยแล้ว หรือหากตำรวจ สน.บางซื่อ มีการเรียกสอบปากคำนายปฏิวัติในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ดีเอสไอก็อาจไปสอบปากคำด้วยก็ได้"

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษนั้น คดีนอมินีขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว หลังจากนี้เป็นกระบวนการพิจารณาว่าหลักฐานพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลใดหรือไม่ เพราะเป็นคดีหลักคดีแรกที่ดีเอสไอรับผิดชอบ ส่วนขยายผลรับเพิ่มคดีฮั้วประมูล ซึ่งองค์ประกอบความผิดหลายเรื่อง เช่น การแข่งขันราคาไม่เป็นธรรมโดยใช้กลอุบายไปฟันราคา เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาแล้วไปลดค่างานหรือการดำเนินการอย่างอื่นเพื่อลดค่าใช้จ่าย ก็เข้าข้อกฎหมายนี้ได้เหมือนกัน และการเรียกสอบวิศวกรผู้คุมงาน ก็เป็นการสืบสวนในคดีฮั้วประมูลนี้

พ.ต.ต.วรณัน ยืนยันด้วยว่า ไม่กังวล แม้จะมีกระแสข่าวว่าคนที่แก้ไขแบบอาคาร สตง. มีความเกี่ยวกับกับผู้หลักผู้ใหญ่ใน สตง. โดยบอกว่าเรื่องนี้สปอร์ตไลท์ของสังคมค่อนข้างเยอะ ไม่น่าจะมีปัญหา และดีเอสไอรับคดีขนาดใหญ่ ทำงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ เรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็น

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง