วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:44 น.

การเมือง

รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ ถาม "เละขนาดไหน ใครช่วยบอกที"

วันจันทร์ ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 08.44 น.

ผมไม่ได้เขียนบทความมากว่าเดือน เพราะบอกตรงๆ ว่าเหนื่อยใจกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากเดิมที่เคยมีความเห็นว่า “เมื่อผมเริ่มชอบทรัมป์” ทุกอย่างเริ่มกลับมาทิศตรงกันข้ามอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ที่เขาประกาศว่าเป็นวันอิสรภาพของสหรัฐ ที่จะขึ้นกำแพงภาษีสู่ระดับมากปานกลาง ถึงมากที่สุด ทั่วโลก เว้นบางประเทศที่พิเศษจริงๆ เกิดความปั่นป่วนในตลาดโลกอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงตลาดหุ้นว่าพินาศขนาดไหน ทองคำจะวิ่งขึ้นอย่างไร ค่าเงินดอลล่าร์จะร่วงแค่ไหน แม้แต่ราคาพันธบัตรสหรัฐยังร่วงลงเละเทะจนเรียกว่าจะนำไปสู่ปัญหาในระบบเสถียรภาพการเงินโลก เหมือนช่วงซับไพร์มได้เลย เพราะประเทศต่างๆเทขายพันธบัตรสหรัฐ ออกมาตอบโต้อย่างมาก สถานการณ์แบบนี้ สามารถทำให้กิจการจำนวนมากที่มั่นคงล้มละลายได้ง่ายๆเลย

สถานการณ์ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องถอยวิธีดำเนินการ จากการเรียกร้องเจรจาดุดัน ต้องขยายระยะเวลายกเว้นภาษีต่างตอบแทนไปก่อน เว้นเก็บเฉพาะภาษีในระดับพื้นฐานที่เรียกว่า Base line ขยายเวลาออกไป 90 วัน สาขาอุตสาหกรรมบางอย่างที่นำเข้าชิ้นส่วนชิป และไมโครโปรเซสเซอร์ ทั้งหลายที่บริษัทอย่างแอปเปิ้ล ต้องนำเข้าจากจีนจำนวนมาก ก็ต้องยกเว้นให้เช่นเดียวกัน คือพวกชิป และชิ้นส่วนรถยนต์ เรียกว่าถ้าไม่ช่วยมีหวังบริษัทแอปเปิ้ลซึ่งมูลค่าตลาดสูงกว่าจีดีพีประเทศไทย อาจล้มลงได้ ท่าทีของทรัมป์เริ่มกลับมาพูดดีกับจีน จากเดิมที่แสดงวาจาก้าวร้าว ดูแคลน 

ทันใดนั้นตลาดทั่วโลกก็เริ่มกลับมาสงบลง ฟื้นตัวขึ้น จนถึงวันนี้เรียกว่ามาได้เกินครึ่งทาง บางตลาดมาได้ถึงร้อยละ 60-70 ของที่ลงมาต่ำสุดแล้ว ตอนนี้ดูเหมือนว่าทรัมป์เริ่มกลับมาตั้งตัวได้แล้ว แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐก็เริ่มออกมาแสดงอาการอ่อนแอลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขการเติบโตในไตรมาสหนึ่งที่ติดลบร้อยละ 0.3 แทนที่ปกติจะบวกประมาณร้อยละ 1 กว่าๆ แต่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดก็ยังออกมาดูดีอยู่นะครับ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังเชื่อว่า ตัวเลขจีดีพีที่ติดลบยังไม่โคม่า เพราะอาจจะเกิดจากการเร่งการนำเข้าที่สูงมากในไตรมาสหนึ่งเพื่อรับกับสถานการณ์นโยบายการก่อกำแพงภาษีที่จะเกิดขึ้น ผมก็ยังไม่ยืนยันตรงนี้ เพราะผมสังเกตว่าทำไมผลประกอบการของสายการเดินเรือทั่วโลกมันแย่ลง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จนตอนนี้นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดการณ์แล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐคงจะประกาศลดดอกเบี้ยในคราวประชุมครั้งหน้าค่อนข้างสูง

ผมเองก็ยังเชื่อว่าการเจรจาอัตราภาษีต่างตอบแทนกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป คงยังไม่จบลงง่ายๆ หากจะมีความคืบหน้าก็คงมีอินเดีย เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่เจรจาเพื่อบีบจีน ทรัมป์ก็คงพยายามเอาเรื่องอินเดียมาเป็นจุดขาย เอาเรื่องการตกลงกับยูเครนเรื่องการได้สัมปทานแร่หายากทั้งหมดในยูเครน รวมถึงเรื่องการกดดันให้เฟดที่จะลดดอกเบี้ยได้ตามที่ตัวเองเรียกร้องแบบบังเอิญ มาเป็นจุดขายว่า นี่ไงคือความคืบหน้าและผลงานส่วนหนึ่งก็กำลังจะผลิดอกออกมา และออกมาต่อเนื่องในอนาคต ทำให้สังคมเริ่มใจฟูขึ้นบ้าง 

ทรัมป์ได้ออกมาช่วยธุรกิจบางกลุ่มของสหรัฐ โดยเฉพาะแอปเปิ้ล ผู้ประกอบการรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์แล้ว โดยการยืดเวลาการใช้ภาษีต่างตอบแทนไปก่อนตามกรอบ 90 วันเพื่อประคองสถานการณ์ แต่ต้นทุนสินค้าในสหรัฐก็คงต้องปรับตัวสูงขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แน่นอนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลสหรัฐก็จะเตรียมผ่านกฎหมายการลดภาษีเงินได้เป็นการทั่วไป เรียกว่าลดความรุนแรงของกระแสสังคมในขณะนี้ ภาพรวมของตลาดตอนนี้ก็มีความคลายกังวลไปพอสมควร ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ต่อไป ความคืบหน้าในการเจรจากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะออกมาในรูปแบบอย่างไร อย่างที่บอกครับ ผมเองก็เชื่อว่า คงไม่สามารถสรุปจบได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างเช่น ญี่ปุ่น เพราะมีเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน มาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่รู้ว่าจะคุยยังไงให้จบได้ง่ายๆ หรือกับจีน ซึ่งท่าทีของจีน คงไม่ยอมอ่อนข้อลงง่ายๆ ยิ่งเมื่อเห็นว่า สหรัฐได้เพลี่ยงพล้ำในยุทธศาสตร์การรุกไล่เปิดกำแพงภาษีแบบที่ผ่านมา

ประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่มหาอำนาจ รวมถึงไทย คงไม่ใช่เป้าหมายที่เขาจะเร่งเจรจาให้มีความคืบหน้าได้เร็วแน่นอน เพราะลำพัง มหาอำนาจที่อยู่ในลิสต์ตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถจะสรุปความคืบหน้าได้ง่ายๆเลย หลายประเทศก็คงไม่สามารถตกลงโดยไปตั้งกำแพงภาษีกับจีน ตามที่สหรัฐร้องขอได้หรอก อย่างญี่ปุ่น ธนาคารกลางก็มีความเห็นออกมาสวนทางเพื่อประคองเศรษฐกิจในประเทศ กลับลำออกมาให้ความเห็นว่า ต้องรอดูสถานการณ์และคิดว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่เคยคิดว่าจะบรรลุเป้าหมายในเร็ววัน คงเลื่อนออกไปตามสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง คือหมายความว่า ฉันคงยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเหมือนที่เคยให้ภาพรวมไว้ 

สหรัฐจะบีบมหามิตรให้มีนโยบายการเงินเพื่อให้ค่าเงินตัวเองอ่อนลง คงจะยากแล้ว และล่าสุดฮ่องกงก็ยังต้องออกมาแทรกแซงค่าเงินของตัวเองเพื่อประคองไม่ให้ค่าเงินตัวเองแข็งขึ้นเร็วและสูงกว่าระดับที่ยึดตายกับค่าเงินสหรัฐ ก็คือประคองไม่ให้ค่าเงินตัวเองแข็งเกินไป ค่าเงินสกุลเอเชียก็ยังคงแข็งหมดทั้งภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 33 หรือจะหลุดต่ำกว่า 33 ได้ ทุกคนต้องฝืนทำให้ค่าเงินตัวเองไม่แข็งจนเกินไป นโยบายดอกเบี้ยทั่วโลกก็คงจะกลับมาลงต่อได้ชัดเจนขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ของไทย ที่ธนาคารกลางไม่ยอมลดก็ต้องลดแล้วในสัปดาห์ก่อนนี้ 

หากการเจรจากับมหาอำนาจไม่มีความคืบหน้าไปอีกระยะหนึ่ง และตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสะท้อนต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ตัวเลขที่จะออกตามมา รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของจีนด้วย ย่อมจะทำให้ตลาดกลับมากังวลได้อีก โดยเฉพาะเมื่อระยะเวลา 90 วัน ตอนนี้ก็เหลือ 60 วันแล้ว ยิ่งทำให้เกิดความกดดันกับทางการสหรัฐที่จะต้องเร่งให้การเจรจาความ มีข้อยุติที่เป็นผลงานออกมาให้ได้ ใครจะเป็นรายต่อไป ถัดจากอินเดีย 

ตอนนี้ผมไม่ได้เริ่มชอบทรัมป์เหมือนเคยแล้วครับ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ เขายังฟังกระแสสังคมอย่างมาก แม้ว่ามีท่าทีที่แข็งกร้าวก็ยังฟัง และปรับตัว รัฐสภาของเขาก็มีแอคชั่น มีการทำข้อตกลงเพื่อขวางการขึ้นกำแพงภาษีร่วมกันของสองพรรค ซึ่งผลกับโหวดก็ฉิ่วเฉียด เรียกว่าเกือบจะคว่ำมาตรการของทรัมป์ลงแล้ว กลไกการเมือง และการทำงานของภาคเอกชนยังสามารถเข้าถึงตัวประธานาธิบดีได้ และเป็นผลอยู่ในเวลานี้ เขามีมาตรการใหม่มาบังคับทุเลาส่วนอื่นแทนอยู่ 

ส่วนบ้านเราประเทศไทย ผมกลับยังไม่เห็นมีความคืบหน้าอะไรเลย สถานการณ์เศรษฐกิจเราแย่ลงไปเรื่อยๆ จากเป้าหมายการเติบโตที่ร้อยละ 2 ปลายๆ ตอนนี้ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย IMF ก็ปรับเป้าประเทศไทยลงเหลือร้อยละ 1 ปลายๆ หรือ 1 กลางๆ ประเทศที่มีหนี้สาธารณะชนเพดานสูงขนาดนี้ เติบโตได้ร้อยละ 1 กว่า จะไปรอดได้อย่างไร และแล้ว Moody’s ก็ปรับลดมุมมองของประเทศและสถาบันการเงินลง ประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจคือกับดักการเติบโตที่ใหญ่มาก แต่ไม่ปรากฏให้เห็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นผลได้ ทั้งๆที่รู้ทั้งรู้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจอยู่ที่ภาคเอกชนไม่ยอมลงทุน เงินลงทุนภาครัฐมีน้อยเกินไป รัฐไม่สามารถขยายฐานภาษีได้ รัฐไทยก็ยังไม่หานโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจที่ระบบอุปทานอยู่ดี ยังคงยืดมั่นกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซื้อของประชาชน ทั้งๆที่รู้ทั้งรู้ว่า ภาคการบริโภคยังเติบโตอยู่ ไม่ได้ติดลบ 

กระแสสังคมเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง รวมถึง TDRI เริ่มใช้คำพูดว่าสถานการณ์บ้านเราอาจเริ่มเข้าไปสู่สภาวะรัฐล้มเหลว หรือ Failed State ซึ่งเป็นคำที่แรงมาก จริงๆแล้ว สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะล้มเหลวอะไรขนาดนั้น แต่อนาคตไม่แน่ครับ เพราะผมเองก็กังวลว่า ในเมื่อเราเห็นปัญหาเป็นแบบนี้แล้ว ทำไมเราไม่กลับนโยบายบางอย่างที่มันไม่ถูกกับปัญหา อย่างเช่น โครงการมันนี่วอลเล็ต ทำไมยังไม่พูดชัดว่าจะยุติโครงการนี้แล้ว แล้วเอาเงินที่มีอยู่ไปทำอย่างอื่น

รัฐไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายเพดานหนี้ เพื่อนำเม็ดเงินใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงจุด คือเข้ามากระตุ้นที่ระบบอุปทาน หรือ Supply-side Economy แม้ว่ารัฐบาลเห็นใจคนจนจำนวนมากที่มีหนี้ครัวเรือนสูง แต่นโยบายการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยการรับซื้อหนี้เสียไปจัดการ แม้ฟังแล้วดูดี แต่จริงๆแล้วก็จะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหากับสถานการณ์แบบนี้แต่อย่างใด เพราะการขายหนี้ออกทางบัญชี มันเป็นการช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาให้กลับมาพ้นสภาพล้มละลายทางกฎหมายได้ แต่ไม่ใช่ว่าลูกหนี้มีปัญหาจะได้เม็ดเงินเข้ามาทุ่มเทลงในระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ ตามธรรมชาติของสถาบันการเงิน คงไม่มีใครจะไปปล่อยหนี้ใหม่ให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติแน่นอน เว้นแต่มีมาตรการอัดฉีดกำกับเข้าไปด้วย หากรัฐจะทำก็คงทำได้แค่สถาบันการเงินของรัฐเท่านั้น 

สถาบันการเงินเอกชน เขาไม่ยอมตัดหนี้สูญง่ายๆอยู่แล้ว ถ้าอันไหนเขาเห็นว่าไม่มีทางจะทำให้ดีขึ้นได้ เขาก็ขายหนี้ไปที่ AMC ของเขาเองที่ร่วมทุนกันกับธุรกิจ AMC รายอื่น การจะยกขายในรูปแบบเบ็ดเสร็จ ทำได้ด้วยวิธีการออกกฎหมายเท่านั้น และก็ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะได้เม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากมาย อย่าลืมว่าลูกหนี้เสียยังต้องควักเงินมาประนอมหนี้เพิ่มจากมูลค่าที่โอนขายแน่นอน ไม่งั้นการโอนขายก็ขาดทุนแน่นอนตามมาอีก ใครอยากจะควักเงินมาประนอมหนี้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตเช่นนี้ ใครจะยอมปล่อยเงินกู้ใหม่ให้ลูกหนี้มีประวัติถ้าไม่มีมาตรการมาช่วย

การที่กระทรวงการคลังเชื่อว่า สภาพคล่องในระบบจะดีขึ้นเพราะธนาคารกลางเริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ต้องเข้าใจว่า ดอกเบี้ยที่เริ่มลดลง มันมาจากสภาพตลาดโลกที่เละมาก มันมาพร้อมกับปริมาณการค้าโลกที่อาจหดตัวลง แม้ว่าดอกเบี้ยไทยยังไม่ได้ต่ำมาก ตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังทำงานดีอยู่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังนำสภาพคล่องมาลงทุนกับพันธบัตรของธปท. แม้ว่ากระทรวงการคลังจะเชื่อว่าดอกเบี้ยธนาคารกลางที่ลดลง จะทำให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนกับสถาบันการเงินเอกชนที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารกลาง จริงหรือครับ ไม่น่าจะใช่ เพราะดอกเบี้ยเงินลงทุนของสถาบัน มันต่างจากดอกเบี้ยเงินลงทุนของรายบุคคลมาก และสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยเงินลงทุนสูงกว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศ สี่ ห้า แห่งนั้น ล้วนแล้วเป็นธนาคารขนาดเล็กทั้งนั้น 
ธนาคารขนาดเล็ก จะมีศักยภาพในการดูดสภาพคล่อง ด้วยดอกเบี้ยสูง ได้มากน้อยขนาดไหน ดูดได้อย่างมากก็รายละเป็นหมื่นล้าน ในขณะที่สภาพคล่องมีปริมาณเป็นล้านล้าน

นิยายเรื่องการดูดสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงใช้ได้ ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่เติบโตอยู่ดี ผมคงไม่อยากเขียนยาวไปกว่านี้แล้ว ขอสรุปจบลงว่า ไม่มีอะไรช่วยคุณได้ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลงบริบทนโยบายให้ตรงกับปัญหา ผมคอนเฟิร์มให้เลยครับ 
 

หน้าแรก » การเมือง