วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:10 น.

การเมือง

"วราวุธ" เผย พม. เตรียมลงพื้นที่ ภูเก็ต-พังงา ชูกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มรดกทางวัฒนธรรม 

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 10.22 น.

เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2568    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 พ.ค.68 ตนและคณะผู้บริหารกระทรวง พม. จะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ชุมชนบ้านหินลูกเดียว,ชุมชนบ้านแหลมหลา อำเภอถลาง เยี่ยมชมพื้นที่บริเวณหลักหมุดเขตคุ้มครองสำหรับกลุ่มภูมิปัญญาสมุนไพรรักษาโรคและกลุ่มคนเปราะบางกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวมอแกลน ซึ่งชาวมอแกลน เรียกตนเองว่า "มอแกลน" หรือ "ชาวบก" เพราะถือว่าตนเองไม่ได้เป็นชาวเกาะ อาศัยอยู่ที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดพังงาและภูเก็ต รวมถึงพื้นที่เกาะแก่งในทะเลอันดามันแถบอำเภอคุระบุรี เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวมอแกลนที่ตั้งบ้านเรือนมาอย่างยาวนาน โดยชาวมอแกลนตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่เป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชาวมอแกนและอูรักลาโว้ย เนื่องจากมีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนในท้องถิ่นภาคใต้ ทั้งวิถีชีวิต การทำมาหากิน ภาษา และการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีชาวมอแกลน ประมาณ 4,000 คน ในพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต 

นอกจากนี้จะมีการลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เปิดโครงการ "ชมวิถีชาวเล ยลเสน่ห์มานิ" Charming of the Sea - Let's see Mountain 2025 เยี่ยมชมนิทรรศการพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ "การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พลังที่ถูกส่งต่อจากภูเขาถึงทะเล" ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นกลุ่มคนที่อาศัยตามสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่เป็นท้องทะเล ชายฝั่งในทะเลอันดามัน โดยแบ่งเป็น ชาวมอแกน , ชาวมอแกลน , ชาวอูรักลาโว้ย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าคือชาวมานิ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีวิถีวัฒนธรรมและมีอัตลักษณ์ของตนเอง ดังนั้น "กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล" ไม่ใช่เพียงคนหาปลาธรรมดา แต่พวกเขาคือผู้ดูแลทะเล ผู้รักษาวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย

หน้าแรก » การเมือง