วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 07:22 น.

การเมือง

"วิสาร" นำกรรมาธิการวิสามัญฯท่าเรือ ลงพื้นที่ท่าเรือระนอง ศึกษาเพื่อพัฒนาและยกระดับกฎหมายการท่าเรือ

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 19.31 น.

เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2568   ที่ท่าเรืองระนอง นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ. …  ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ท่าเรือระนอง เพื่อหาแนวทางแก้ไขกฎหมายท่าเรือที่เก่าแก่ตั้งแต่ปี 2494  และปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในปัจจุบัน

นายวิสาร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อศึกษาความก้าวหน้า ความเจริญ และปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะที่ท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในหกท่าเรือที่อยู่ในสังกัด  พบว่า เจ้าหน้าที่และการบริหารจัดการอยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และอุทยาน  ที่เชียงรายทั้งท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ ก็ติดอุปสรรคปัญหานี้เช่นกัน

"กฎหมายเก่าเกินไป ทำให้การพัฒนาการท่าเรือไม่สามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เช่นเดียวกับท่าเรือในจังหวัดอื่นๆ  ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทันก่อนการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคม" นายวิสาร กล่าวเสริม

นายวิสาร ยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้ ที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ  รวมถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน  เช่น เมียนมาร์ บังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน  การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

"เราต้องการให้ท่าเรือทั่วประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญ  และเป็นประตูสู่ตลาดโลก" นายวิสาร กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์  รองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวขอบคุณคณะกรรมาธิการทุกท่านที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนองในวันที่ 6 - 7  พ.คน. 2568 เพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายท่าเรือ  การลงพื้นที่ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพิจารณาถึงศักยภาพของท่าเรืออเนกประสงค์ในพื้นที่  ท่าเรือประเภทนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  การขาดกฎหมายที่ทันสมัยและเหมาะสม  ส่งผลให้การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ยังไม่เต็มศักยภาพ

"การแก้ไขกฎหมายท่าเรือในครั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  การขาดกฎหมายที่ชัดเจนและทันสมัย  ส่งผลให้การขนส่งสินค้าไม่สามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  และยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต"

นอกจากนี้  การแก้ไขกฎหมายยังจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่  โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา  การเชื่อมโยงระบบขนส่งหลายรูปแบบนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร  และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชน  การแข่งขันทางเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน  ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว

"เราหวังว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน  โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า  และสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการและประชาชน  การพัฒนาการท่าเรือในจังหวัดระนองจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น  และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต" 

นายคงกฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่าการพัฒนาการท่าเรือในจังหวัดนี้จะไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  แต่เป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว  การเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟที่จังหวัดสงขลา  จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า  และลดต้นทุนการขนส่ง  นอกจากนี้  ยังจะดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน  และสร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่  การพัฒนาการท่าเรือที่ดี  จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติ  เราต้องขอบคุณพี่น้องชาวประชาชนทุกท่านที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้  เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น  และยั่งยืนในอนาคต
 

หน้าแรก » การเมือง