วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:29 น.

การเมือง

 เปิดเบื้องหลัง! ศาลอาญายกคำร้อง "ทักษิณ" ขอออกนอกประเทศหวังพบ "ทรัมป์" ที่กาตาร์ เหตุไม่ชัดเจน-กระทบพิจารณาคดี

วันพฤหัสบดี ที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 20.54 น.

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เดินทางออกนอกประเทศตามที่ยื่นคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าคำเชิญจากกาตาร์เป็นเพียงการเชิญส่วนตัว ไม่มีความชัดเจนในกำหนดการ อีกทั้งช่วงเวลาขอเดินทางอยู่ใกล้วันนัดพิจารณาคดีของศาลฎีกา อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม

ศาลระบุว่า คำเชิญที่นายทักษิณนำมาแสดงนั้น มาจากสำนักบริหารผู้รับเชิญของพระราชวังลูเซล เพื่อร่วมงานเลี้ยงที่ประเทศกาตาร์ โดยอ้างว่าจะเป็นโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ไม่ได้เป็นการเชิญในฐานะทางการ เช่น ที่ปรึกษาของประธานอาเซียน จึงไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุจำเป็นในการอนุญาตให้ออกนอกประเทศ

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ แถลงต่อสื่อมวลชนว่า คำร้องดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้นายทักษิณได้ใช้ประสบการณ์ในการพบผู้นำสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องภาษีนำเข้าที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของชาติ มิใช่ส่วนตัว

นายวิญญัติยังกล่าวต่อว่า แม้ศาลจะเห็นว่าการเชิญดังกล่าวไม่มีความแน่นอนและใกล้กับวันนัดศาล แต่โอกาสในการพบปะกับผู้นำระดับโลกเช่นนี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไทยได้รับผลกระทบจากนโยบายทางภาษีของสหรัฐฯ

เมื่อถูกถามถึงประเด็นที่อาจกระทบต่อการเจรจาทางเศรษฐกิจ นายวิญญัติได้ตั้งคำถามกลับต่อสังคมว่า หากบุคคลหนึ่งมีความสามารถและมีเจตนาจะช่วยเหลือประเทศ แต่กลับไม่ได้รับโอกาส จะถือเป็นการเสียโอกาสของชาติหรือไม่ พร้อมระบุว่ายังไม่แน่ใจว่าจะยื่นคำร้องใหม่อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

นอกจากนี้ ทนายความยังเปิดเผยถึงเนื้อหาบางส่วนในหมายเรียกของศาลฎีกานักการเมือง ซึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของนายทักษิณ และการที่อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ พร้อมยืนยันว่ามีหลักฐานทางการแพทย์ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ็บป่วยจริง และพร้อมชี้แจงตามกระบวนการของศาล

ทั้งนี้ นายวิญญัติได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากคำร้องของนายชาญชัยถูกศาลยกแล้ว เหตุใดจึงยังมีการนำเนื้อหาในคำร้องดังกล่าวมาใช้พิจารณาต่อ และตั้งคำถามทางกฎหมายต่ออำนาจศาลในเรื่องการตรวจสอบคดีที่สิ้นสุดแล้ว โดยระบุว่า แม้จะยอมรับอำนาจศาล แต่ในฐานะนักกฎหมายมีสิทธิ์แสดงความเห็นในประเด็นทางวิชาการและนิติศาสตร์
 

หน้าแรก » การเมือง