วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 16:34 น.

การเมือง

"เผ่าภูมิ" ยืนยัน G-Token  เป็นแค่เครื่องมือระดมทุนใหม่ของรัฐบาลเท่านั้น 

วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 15.56 น.

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568  นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจาก ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออกโทเคนดิจิทัล (Government Token: G-Token) เพื่อเป็นกลไกระดมทุนรูปแบบใหม่ ว่า G-Token ไม่ได้เป็นการสร้างหนี้ขึ้นมาใหม่ และงบในการกู้เงินก้อนใหม่ หรือกระแสข่าวที่จะกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนำมาแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เป็นเพียงแค่กลไกใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการที่ช่วยให้ สํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เเละประเทศ สามารถมีการกู้ยืมได้อย่างมีศักยภาพที่สูงขึ้น ในต้นทุนราคาที่ต่ำลง

รวมไปถึงการเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก ๆ และมีสภาพคล่องในตลาดรอง ซึ่งจะสามารถ เทรดได้เพิ่มขึ้นแล้ว หากประเทศไทยสามารถทำได้ก็จะถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำ Digital Asset มาใช้ โดยคาดว่าจะสามารถออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะให้เฉพาะนักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนได้เท่านั้น

"ทาง สบน. ได้พิจราณาเครื่องมือต่าง ๆ อย่างในปัจจุบัน ก็ได้ใช้เครื่องมือหลายชนิด เช่น พันธบัตรรัฐบาล โดย G-Token ก็จะเข้าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่เป็นเครื่องมือใหม่สำหรับรัฐบาล ในการที่จะบริหารการกู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อมาบริหารจัดการให้ได้ดียิ่งขึ้น" นายเผ่าภูมิ กล่าว

โดย G-Token จะมีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบ Digital Asset ซึ่งโดยปกติแล้ว การที่ประชาชนจะซื้อพันธบัตรรัฐบาล ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซึ่งไม่ตอบสนองต่อประชาชนรายย่อยที่อยากเข้าซื้อ โดยการมี G-Token ที่เป็นลักษณะเหมือน Token จะมีการระบุว่า ใน Token ต่าง ๆ จ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ ได้เงินคืนเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล โดยข้อมูลจะระบุอยู่ใน Smart Contact ของ Token นั้น ๆ

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า สำหรับข้อดีของ G-Token คือ สามารถแตกเป็นหน่วยลงทุนย่อยได้ ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็สามารถเข้าถึงการออมและสามารถลงทุนได้ง่าย และสามารถมีส่วนร่วมระดมทุนในการลงทุนต่าง ๆ ได้

นอกจากนี้ G-Token มีสภาพคล่องในตลาดรองได้สูงขึ้น เพราะพันธบัตรรัฐบาลหรือว่าตลาด Bond ในขณะนี้ ยังมีสภาพคล่องในตลาดรองยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ รวมไปถึงจะช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศต่ำลง ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น และต้นทุนต่าง ๆ ต่ำลง

ในส่วนของช่องทางการซื้อขายและรูปแบบกลไกต่าง ๆ ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะประกาศให้ประชาชนได้ทราบถึงรายละเอียดเร็ว ๆ นี้ โดยประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็จะสามารถเข้าถึงการลงทุนดังกล่าวได้ด้วย

ธปท. ไม่หนุนใช้ G-Token จับจ่าย หวังรัฐเน้นระดมทุนเป็นหลัก

ขณะที่นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออก G-Token ในการระดมทุน ว่า การออก G-Token ถือเป็นลักษณะการระดมทุนคล้ายการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอาจจะต้องมีการออกกฎหมายเข้ามาดูแล และคุ้มครองประชาชน ให้เทียบเคียงกับพันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่อยากเห็นการนำ G-Token ของรัฐบาลมาใช้ในรูปแบบการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ควรใช้ในการระดมทุนเป็นหลักเท่านั้น

ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการออก G-Token คือเรื่องระบบที่ดี ต้องมีความปลอดภัย มีกฎหมายรองรับ และมีการคุ้มครองประชาชน ให้เทียบเคียงกับ พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งกระบวนการที่ดี จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจ เพราะหากเกิดความไม่มั่นใจอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลได้
 

หน้าแรก » การเมือง