วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 16:27 น.

การเมือง

“สิรภพ” เปิดแผนพัฒนายะลา ก้าวสู่เมืองยั่งยืน ด้วย 5 ปัจจัย เศรษฐกิจ-สังคม-สันติสุข-ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-เครือข่ายร่วมมือ

วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.10 น.

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นวิทยากรบรรยาย “ทิศทางการพัฒนาจังหวัดยะลา” ภายใต้โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดยะลา พ.ศ.2566 – 2570 ฉบับทบทวน พ.ศ.2567 และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดยะลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2570 ณ โรงแรม ศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง

นายสิรภพ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาจังหวัดยะลาว่า การที่จะมุ่งสู่การพัฒนาจังหวัดให้ยั่งยืน จังหวัดยะลานั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ท่ามกลางความท้าทายด้านความมั่นคงและความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาจังหวัดจึงต้องมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การพัฒนาจังหวัดยะลาจะต้องประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย ดังนี้ 

1. เศรษฐกิจฐานราก มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก การแปรรูปสินค้าเกษตรและเพิ่มมูลค่า จะต้องยกระดับการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน ลองกอง และโกโก้ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาด เชื่อมโยงการผลิตและการตลาดผ่านระบบดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออก ต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชน เช่น หมู่บ้านวัฒนธรรมมลายูและชุมชนเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น สวนผลไม้เชิงเกษตรและศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม  

2. สังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน เริ่มจากการพัฒนาคนและชุมชน การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับหลักสูตรการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน สนับสนุนการฝึกอบรมทักษะอาชีพและทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนและผู้สูงอายุ พัฒนาโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” เพื่อเสริมสร้างทักษะวิชาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ การสร้างระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องยกระดับการเข้าถึงระบบสวัสดิการและบริการสุขภาพที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาโครงการสวัสดิการทางสังคม เช่น การจ้างงานสำหรับคนพิการและการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน  

3. เรื่องสันติสุขและความมั่นคง การสร้างสังคมที่มีความมั่นคงและเข้มแข็ง จะต้องมีการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน : จัดตั้งศูนย์สร้างสันติสุขชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแก้ไขปัญหา ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เน้นการพัฒนาทักษะเยาวชนและสร้างสันติภาพในพื้นที่ พัฒนาโครงการเยาวชนผู้นำชุมชน เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคง ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด (CCTV) และศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคง สนับสนุนการสร้างงานในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

4. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้คือการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว  การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาโครงการฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งน้ำชุมชน เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรมและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พัฒนาโครงการการเกษตรอินทรีย์และเกษตรสีเขียว เพื่อลดการใช้สารเคมีและสร้างรายได้เสริม เรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พัฒนาโครงการรีไซเคิลและการจัดการขยะชุมชน เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนจากทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล สร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการพัฒนาอย่างบูรณาการ ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชน เยาวชน และผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการร่วมมือระหว่างจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาเศรษฐกิจ 
 
"การก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทิศทางการพัฒนาจังหวัดยะลา ไม่เพียงแต่เป็นการวางแผนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การสร้างสันติสุขในพื้นที่ และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน การบูรณาการการพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและการเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัดยะลาสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต" นายสิรภพ กล่าว 
 
 

หน้าแรก » การเมือง